วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2561

Hybrid Financial Instrument


Hybrid Financial Instrument

      เครื่องมือทางการเงินลูกผสมชนิดหนึ่งที่มีองค์ประกอบของเครื่องมือการเงินพื้นฐานสองแบบขึ้นไป ซึ่งมักจะนำเอาลักษณะทั้งการเป็นหนี้สินและส่วนทุนมารวมกันโดยใช้ตัวเชื่อมที่อาจเป็นอนุพันธ์ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ที่ผ่านมาในตลาดการเงินไทยจะมี Convertible Bond (หุ้นกู้แปลงสภาพ) การออก SLIP (หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ควบหุ้นบุริมสิทธิ์ ซึ่งสถาบันการเงินไทยออกในช่วงที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเพื่อรักษาระดับ BIS ให้ได้มาตรฐานโดยไม่ต้องเพิ่มทุน) และก่อนหน้าเกิดวิกฤต กลุ่มอสังหาก็ออก Bond with Warrant กันมาก

หลังตลาดหุ้นไทยผ่านพ้นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ ประกอบกับการฟื้นตัวจากช่าง Subprime Crisis (Hamburger Crisis) ตลาดการเงินโลกก็มีการออก  Financial Product ที่ซับซ้อน มาตรฐานการบัญชีสากลก็ต้องออกมารองรับธุรกรรมการเงินที่ซับซ้อมมากขึ้นจากเดิมที่ออก IAS 39 ก็ปรับพัฒนาจนมาเป็น IFRS 9

       ในตลาดหุ้นไทยก็เช่นกัน แต่ถ้าเรามีความเข้าใจแล้วจะพบว่า Hybrid Instrument ที่ออกมานี้ความจริงคือเหล้าเก่าในขวดใหม่ทั้งสิ้น เพียงชื่อและยี่ห้อใหม่ แต่ความจริงเนื้อหาสาระเหมือนเดิม แค่เล่นชื่อใหม่เพื่อเอาประโยชน์ทางภาษี (งานนี้ประหยัดภาษีได้เนียนแค่เปลี่ยนชื่อ สรรพกรก็คือสรรพกร อย่างไรก็ตามนักการเงินไม่ทัน) ตอนนี้นิยมออกกันมากคือ Perpetual Bond (หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ที่มีลักษณะคล้ายทุน) บางคนเรียกหุ้นกู้ชั่วลูกชั่วหลาน คือไม่มีระยะเวลาคืนทุน แต่ผู้ออกได้สิทธิ์ไถ่ถอนคืนได้ (ส่วนมากภายใน 5 ปี) และถ้าจะไม่จ่ายดอกเบี้ยตามกำหนดก็ได้ คนถือหุ้นกู้ห้ามเรียกร้อง ฟ้องไม่ได้ มีดีอยู่อย่างเดียว ถ้าเลิกกิจการจะได้คืนก่อนผู้ถือหุ้น (คล้ายหุ้นบุริมสิทธิ์ แต่ถ้ามีหุ้นบุริมสิทธิ์ หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์จะได้ก่อน ถัดมาจึงเป็นบุริมสิทธิ์ และหุ้นสามัญตามลำดับ)

      Redeemable Preferred Stock (RPS) คือหุ้นบุริมสิทธิ์ไถ่ถอนได้ หุ้นบุริมสิทธิ์คือหุ้นที่ได้สิทธิในการคืนทุนหลังหนี้สินแต่ก่อนหุ้นสามัญ ไม่มีอายุเหมือนหุ้นสามัญ ไม่มีสิทธิ์ออกเสียง และนิยมกำหนดผลตอบแทนคงที่ (และร่วมรับเพิ่มได้ถ้าผู้ถือหุ้นสามัญได้รับปันผลจากกำไรสูงกว่าอัตราปันผลที่บุริมสิทธิ์ได้รับ (เช่น PS กำหนดว่าจะได้ 5 บาทต่อหุ้น ถ้ากิจการประกาศจ่ายปันผลหุ้นสามัญ (CS-Common Stock) 7 บาท หุ้น PS จะได้บวกเพิ่มอีก 2 บาท) RPS นี้ให้สิทธิ์กิจการไถ่ถอนหรือซื้อคืนได้ ปกติเงินผลตอบแทนที่จ่ายให้บุริมสิทธิ์ เรียกเงินปันผลหุ้นบุริมสิทธิ์ จะหักจากกำไรสุทธิ และไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี ทางกฎหมายถือว่าหักจากผลกำไร จะไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี

     Perpetual Bond (PB) ถ้าดูโครงสร้างกระแสเงินสดที่เกี่ยวข้อง จะพบว่าไม่แตกต่างจาก Redeemable Preferred Stock เลย คือไม่มีอายุ แต่ถูกไถ่ถอนได้ก่อนกำหนดได้ จ่ายผลตอบแทนคงที่ ความต่างมีอย่างเดียวคือ ผลตอบแทนที่จ่าย PB เรียกดอกเบี้ยหักเป็นค่าใช้จ่าย ได้ประโยชน์ทางภาษีนิติบุคคล และผลตอบแทนที่จ่าย RPS เรียกเงินปันผล ไม่ถือเป็นค่าใช้จ่าย ไม่ได้ประโยชน์ทางภาษีนิติบุคคล แต่ได้ประโยชน์ทางภาษีบุคคลธรรมดา (นำไปเครดิตภาษีได้) ดังนั้นในทางกฎหมายภาษีคือ PB ให้ประโยชน์ทางภาษีนิติบุคคล RPS ได้ประโยชน์ทางภาษีบุคคลธรรมดา

    ในความเห็นส่วนตัว ผมถือว่า PB ก็คือ RPS นั่นเองพียงแต่นักการเงินเล่นคำจากหุ้นบุริมสิทธิ์เป็นหุ้นกู้ โอนย้ายประโยชน์ทางภาษีจากบุคคลธรรมดา (นักลงทุน) ไปให้บริษัทแทน (จ่ายภาษีนิติบุคคลลดลงจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย) และผมเห็นว่า Perpetual Bond ควรบันทึกเป็นหนี้เพราะ

1. โดยหลักการเงินและภาษี ผลประโยชน์ที่ได้ทางภาษีนิติบุคคลคือหนี้สิน ส่วนผลประโยชน์ทางภาษีบุคคลธรรมดาคือทุน

2. ความตั้งใจของบริษัทคือไถ่ถอนค่อนข้างแน่นอนอยู่แล้ว ถ้าดอกเบี้ยลดลงกว่าที่ระดมเงิน ดังนั้นสภาพของ Perpetual Bond จึงเปรียบเสมือนมีอายุโดยปริยาย

3. ไม่มีกิจการใดที่จะยอมจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าปกติไปเรื่อย ๆ แม้เงื่อนไขหุ้นกู้จะบอกว่าถ้าหากปีไหน ขาดทุนอาจระงับการจ่าย (แต่เมื่อไรมีกำไรอาจต้องจ่ายดอกเบี้ยคงค้างย้อนหลังด้วย)

4. ในหลักการเงิน อัตราส่วน D/E คือการพิจารณาโครงสร้างเงินทุน ในอีกด้านหนึ่งคือเมื่อเกิดการเรียกร้อง หนี้คือส่วนที่จะได้รับคืนก่อนเจ้าของหุ้น และคำว่า equity นี้นิยามคือ On a company's balance sheet, the amount of the funds contributed by the owners or shareholders plus the retained earnings (or losses). ภาษาทางบัญชีบอกว่าทุนคือสินทรัพย์หักหนี้สิน แต่ถ้าดูจากนิยามทางการเงิน ส่วนของเจ้าของคือกำไรหรือขาดทุนสะสมที่เหลืออยู่ ปกติเวลามีกำไรหลังหักรายจ่ายแล้ว ส่วนที่เหลือนี้ถึงคืนกลับให้เจ้าของหุ้น คำถามง่าย ๆ เบื้องต้นเลยคือ เจ้าของหุ้นเรียกร้องหนี้ (Perpetual Bond) ในส่วนเจ้าของทุนได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรนับเป็น Equity

5. ในการวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมา หากเรามองเป็นส่วนทุน จะเกิดผลเสียตามมาคือกิจการอาจไปก่อภาระหนี้เพิ่ม ถาระหนี้ที่เพิ่มทำให้ต้องกันกระแสเงินสดเพื่อจ่ายภาระหนี้เพิ่มขึ้น ICR or MICR จะลดลงมาก ทำให้เราคิดว่าระดับหนี้ไม่เสี่ยงทั้งที่  ICR or MICR ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ