วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2560

การลงรายการรับรู้กำไรในงบกำไรขาดทุนจากการสูญเสียการควบคุมในบริษัทลูก


การลงรายการรับรู้กำไรในงบกำไรขาดทุนจากการสูญเสียการควบคุมในบริษัทลูก  

บริษัท A ถือ 60% ในบริษัท B โดย B มีทุนจดทะเบียน 200 ลบ. A ลงทุน 120 ลบ. (at par = cost)

ต่อมา B เพิ่มทุน อีก 100 ลบ. โดยขายในราคาส่วนเกินรวมเป็น 150 ลบ. โดยให้ A เพิ่มทุนรักษาสัดส่วนได้ คือ 90 ลบ. (ทุน 60 ลบ. ส่วนเกินทุน 30 ลบ.)

ถ้า A สละการซื้อส่วนเพิ่ม ให้คนอื่นแทน สมมติคือ C ต้องจ่ายเงินเพิ่มทุนให้ B 90 ลบ.

ในส่วนเจ้าของ B จะมีส่วนทุนหลังเพิ่มทุนเป็น 300 ลบ. มีส่วนเกิน 150 ลบ.

ในงบการเงินเฉพาะ A ยังคงแสดงเงินลงทุน 120 ลบ. ในงบการเงินรวมเดิมจะไม่แสดงเงินลงทุนเพราะ A ถือ 60% ในบริษัท B ซึ่งมากกว่า 50%  งบใหม่ A ถือใน B = 120/300 = 40% ต้องแสดงเงินลงทุน และงบการเงินจะให้แสดงงบการเงินวิธีส่วนได้เสียในเงินลงทุนแทน (ไม่ใช่งบรวม)

B ยังไม่มีผลกำไร เงินลงทุนในงบ A ต้องแสดง = 350x40% = 140 ลบ. ส่วนเกินที่เพิ่มจากเงินลงทุนเดิม 20 ลบ. นี้แหละที่จะนำมาลงเป็นรายการรับรู้กำไรในงบกำไรขาดทุนจากการสูญเสียการควบคุม หรือที่ CK เคยแสดงเป็นชื่อว่า กำไรเปรียบเสมือนการขายจริง

20 ลบ. นี้ มาได้อย่างไร มองในสมการบัญชี ส/ท (งลท) เพิ่ม = ส่วนทุนเพิ่ม (กำไรฯ)

มองในด้าน transaction เปรียบเสมือน A ซื้อส่วนเพิ่มแล้วขายออกทันที

A 120 ลบ. (par 1) ซื้อตามสิทธิ์ที่ได้ 60 ล.หุ้นที่หุ้นละ 1.5 บาท = 90 ลบ.

จากนั้นขายออกส่วนที่ได้ใหม่ออกทั้งหมด 60 ล้านหุ้น ซึ่งมีต้นทุนเฉลี่ยใหม่ = (120+90)/(120+60) = 1.167

ขายที่หุ้นละ 1.5 (ราคาเพิ่มทุน) จึงเหมือนเกิดกำไร = 60 x (1.5-1.167) = 60 x 0.333… = 20

มองในอีกด้าน ส่วน 20 ลบ. นี้ คือส่วนเกินทุนจริงที่ B ได้มานำมาเฉลี่ยใหม่ให้ทุกหุ้นหลังเพิ่มทุน

50/(200+100) = 0.167 บาทต่อหุ้น เมื่อ A ถือ 120 ล.หุ้น = 20 ลบ.

ดังนั้นจะเห็นว่า

1. ต้องเป็นการใส่เงินเพิ่มทุนในลูก (B) จริงๆ เท่านั้น ไม่ใช่จ่ายผ่าน A โดย A รับส่วนต่างแบบนี้ไม่ใช่ความหมายแท้จริงตามความตั้งใจมาตรฐานบัญชี

2. สมมติ A ขายให้ C ในส่วนที่ได้สิทธิ์เพิ่มทุน 60 ล. หุ้น ในราคา หุ้นละ 40 บาท ถ้าวิเคราะห์ transactions

A มีภาระส่งเงินให้ B = 90 ลบ. แล้วส่งมอบใบหุ้นให้ C (โดยอาจให้หุ้นออกในชื่อ C ไปเลยก็ได้) กรณีนี้ไม่ใช่การเสียส่วนมีอำนาจควบคุม เหมือนเรามีหุ้นแล้วขายหุ้นออก ไม่ใช่การสูญเสียการควบคุมจากการเพิ่มทุน เพราะ B ไม่ใช่ได้เงินค่าหุ้นที่ราคา 40 บาท ยังได้แค่ 1.5 บาทต่อหุ้นเท่าเดิม ส่วนต่างราคาได้เพียงเฉพาะ A ไม่ได้เกลี่ยผุ้ถือหุ้น ดังนั้นสรุปสั้นๆ ง่ายๆ กำไรจากการสูญเสียการควบคุม เกิดจากบริษัทแม่สละการเพิ่มทุน แต่เอี่ยวส่วนแบ่งเพิ่มจากส่วนเกินทุนใหม่ ด้งนั้นจะเห็นว่าอาจเกิดขาดทุนจากการสูญเสียการควบคุมได้ ถ้าเพิ่มทุนต่ำกว่า par แล้วไม่เพิ่ม เหมือนลงทุนแล้วเราไม่เพิ่มตามตอน XR ราคาในกระดานจะเกิด dilution effect



คิดว่าคงมองได้ครอบคลุมนะครับกับบทความที่ลงมาทั้งหมด บางคนบอกเขียนตอนนี้ก็จบไปแล้ว แต่ผมต้องการปูให้ครบทุกเรื่องว่า ไม่เกี่ยวกับการทำการประเมิน Income Approach อันนั้นอ้างผิดแต่แรกเลยในการชี้แจง ตีราคาไม่ได้ นั้นเป็นเรื่อการขาย ไม่เกี่ยวกับการลงจากการสูญเสียการควบคุมแต่อย่างใด และทำไม่ได้ สินทรัย์ก็ตีไม่ได้ บอกในบทความก่อนแล้ว นี่แหละสไตล์ผม รู้แล้วต้องแน่นปึก ทุกกรณี ทุกมุมจริงๆ

วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

(เพิ่มเติม) การรับรู้กำไรในงบกำไรขาดทุนจากการสูญเสียการควบคุมในบริษัทย่อยของบริษัทแห่งหนึ่ง  


ขอเพิ่มเติม ข้อ 3 ในนิยามสินทรัพย์ ที่บอกมาไม่ใช่หมายถึงส่วนที่ก่อสร้างแล้วไม่ใช่สินทัพย์นะครับ แต่หมายถึงส่วนที่ตีเพิ่มไถือเป็นสินทรัพย์ เพราะส่วนนั้นยังไม่เข้านิยาม ปกติหลักบัญชีให้ตีเพิ่มได้ในมูลค่าสินทรัพย์ โดยที่สินทรัพย์ที่เป็นอยู่ในขณะนั้นสามารถทำให้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต ย้ำครับว่าขณะนั้น แต่บริษัทยังทำไม่เสร็จตีเพิ่มไม่ได้

การรับรู้กำไรในงบกำไรขาดทุนจากการสูญเสียการควบคุมในบริษัทย่อยของบริษัทแห่งหนึ่ง  


ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมามีบริษัทหนึ่งสร้างความฮือฮา กังขาปนสับสนแปลกใจพอควรกับการรับรู้กำไรในงบกำไรขาดทุนจากการสูญเสียการควบคุมในบริษัทย่อย   ทำให้ผลกำไรงวดไตรมาสที่สองกระโดดขึ้นมากมาย ได้มีคนสอบถามและได้อ่านความเห็นมากมาย พบว่ายังไม่ใครให้ความหมายและหลักการหรือความเห็นที่ถูกต้องตรงประเด็นว่า การลงรายการดังกล่าวถูกผิดอย่างไร แต่รายงานของผู้สอบบัญชี บริษัท เบเคอร์ ทิลลี่ ออดิท แอ็ดไวเซอร์รี่ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด  ไม่ให้ข้อสรุปต่องบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวม และการให้ข้อสรุปอย่างมีเงื่อนไขต่องบแสดงฐานะการเงินระหว่างกาลสำหรับงวด สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ซึ่งผมเห็นด้วยต่อการรายงานของผู้สอบบัญชีและเห็นอีกว่าผู้สอบบัญชีพยายามที่จะลดความเห็นเชิงลบมากแล้ว สำหรับผมเห็นว่าเป็นการทำ creative accounting ด้วยซ้ำและผิดหลักการทางบัญชีหลายประเด็น ไม่ใช่เพียงการถูกจำกัดขอบเขตโดยสถานการณ์เรื่องการประมาณการรายได้ สามารถสรุปข้อไม่ถูกต้องในหลักการบัญชีดังนี้

1. มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ได้กล่าวถึงเรื่องของการสูญเสียการควบคุมในบริษัทย่อย สามารถบันทึกผลต่างในกำไรขาดทุนจากการสูญเสียการควบคุมในบริษัทย่อยในงบกำไรขาดทุนท่อนบน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การรับรู้งบกำไรขาดทุน และกรณีนี้ต่างกับของ CK ที่บันทึกการสูญเสียไว้โดยใช้คำว่ากำไรเปรียบเสมือนการขายจริง (งบปี 2556) ในกรณีที่กล่าวเกิดเนื่องจาก CK สละสิทธิ์ในการเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการควบคุมจึงคล้ายกับ CK ขายหุ้นในสิทธิ์ที่ควรได้ออกให้ผู้อื่นในราคาเพิ่มทุน แต่ของบริษัทที่เป็นประเด็นที่กล่าวถึงนี้ ไม่ได้บอกรายละเอียดไว้ แต่น่าจะเกิดเพราะมีคนถือหุ้นออกใหม่สำหรับหุ้นใหม่ที่ออกเพิ่ม ไม่ใช่การสละสิทธิ์เพิ่มทุนใหม่ให้ผู้ถือเดิมเหมือนดั่ง CK เป็นผลจากทางบัญชีโดยแท้จริง เป็น One-time Gain จะต้องรับรู้รายการดังนี้

o มูลค่ายุติธรรมของสิ่งตอบแทนที่ได้รับจากรายการ  หมายถึงสูญเสียไปโดยการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ (เช่นได้เงิน)

o จำนวนที่มีการกระจายนั้น หากรายการเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ทำให้สูญเสียการควบคุม เกี่ยวข้องกับการกระจายหุ้นของบริษัทย่อยให้กับเจ้าของนั่นคือหุ้นลดลงหรือสัดส่วนลดลง และ

o เงินลงทุนที่เหลืออยู่ในบริษัทย่อยเดิมในมูลค่ายุติธรรม ข้อนี้แหละที่สำคัญ เดิมบันทึกเงินลงทุนหอดูวิวด้วยมูลค่าเท่าใด ต้องปรับส่วนสูญเสียแต่ตรงนั้น การตีราคาใหม่คือการ mark to market ไม่ใช่เสียการควบคุมแล้วมาตีราคาเพิ่มเพื่อบุ๊คกำไร ซึ่งส่วนเพิ่มนี้ควรไปอยู่ที่ท่อนล่าง กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (OCI) เพราะเงินลงทุนนี้ไม่ใช่เงินลงทุนเพื่อค้า จากการอ่านคำชี้แจง ไม่ใช่เสียการควบคุมจากการจำหน่าย หรือการสละสิทธิ์ แต่เพราะมีคนมาเพิ่มทุนทำให้ตัวเองถือหุ้นลดลง แล้วมาตีมูลค่าเองใหม่ บุ๊คกำไรส่วนต่างเพิ่ม อันนี้ผิดหลักบัญชี (นี่ยังไม่กล่าวถึงเรื่องตีมูลค่า ว่าเหมาะหรือไม่ด้วยนะครับ)

o รับรู้ส่วนต่างเป็นกำไรหรือขาดทุน ในกำไรขาดทุนส่วนของบริษัทใหญ่ ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กล่าวมา คือลดสัดส่วนลงเพราะขายออก หรือสละสิทธ์ในการรักษาสัดส่วน ถ้าเสียเพราะคนใหม่เข้ามาให้พิจรณาปรับเงินลงทุนที่เหลืออยู่ในบริษัทย่อยเดิมในมูลค่ายุติธรรม ซึ่งในราคายุติธรรมจะกล่าวต่อไป เพราะคือตัวปัญหา ปกติเงินลงทุนในบริษัทย่อยเราไม่ตีราคาแบบ mark to market ในการบันทึก เราแสดงราคาได้มาในงบแม่ แล้วเอามาทำงบรวม ถ้าลดลงเหลือร่วมเราก็ต้องแสดงในมูลค่า equity method ไม่มีมาตรฐานการบัญชีใดให้แสดงด้วยมูลค่ายุติธรรมที่ตีใหม่ (เอง)

2. มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 13 เรื่อง การวัดมูลค่ายุติธรรม ให้คำนิยามมูลค่า ยุติธรรมว่าเป็นราคาที่จะได้รับจากการขายสินทรัพย์ หรือจะจ่ายเพื่อโอนหนี้สินในรายการที่ เกิดขึ้นในสภาพปกติระหว่างผู้ร่วมตลาด ณ วันที่มีการวัดมูลค่า (ราคาขายหรือโอนออก (exit price)) วัตถุประสงค์ของการวัดมูลค่ายุติธรรมมีลักษณะ คือ เพื่อประมาณการราคาสำหรับรายการที่เกิดขึ้นในสภาพปกติในการขายสินทรัพย์หรือการโอนหนี้สินที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ร่วมตลาด ณ วันที่วัดมูลค่าภายใต้สภาพปัจจุบันของตลาด ถ้าพิจารณาจากนิยาม การวัดมูลค่าตึกที่ยังสร้างไม่เสร็จจึงเป็นไปไม่ได้ ในทางการเงินวัดได้ เพราะมโนหรือตั้งสมตติฐานได้ เช่นจะทำโครงการหนึ่งเราก็คาดเอาว่าโครงเท่านี้บาท ควรลงทุนกี่บาท แต่ไม่ใช่บันทึกบัญชีทั้งก้อนทันทีที่ปักเสาเข็ม เราบันทึกมูลค่าโครงการระหว่างก่อสร้างด้วยราคาทุนที่จ่ายลงทุนซื้อวัสดุต่างๆไป พอเสร็จถึงตีมูลค่าเพิ่มตามมาตรฐานเรื่องที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ หรือ อสังหาริมทรพย์เพื่อการลงทุนก็ว่าไป ไม่ใช่ตีทั้งหมดด้วยหลักการเงินทั้งก้อน ทั้งที่ยังทำไม่เสร็จ เหมือนงานระหว่างทำ สินค้าผลิตไม่เสร็จบันทึกต้นทุนเต็มรอไปก่อนไม่มีใครเขา ย้ำอีกทีมาตรฐานเน้นว่าอยู่ในสภาพปกติ หอนั้นอยู่ในสภาพปกติแล้วหรือยัง อันนี้ก็ผิดเต็มๆ อีกข้อ

3. เมื่อมาพิจารณานิยามของสินทรัพย์ ในทางบัญชีได้กำหนดนิยามของสินทรัพย์ไว้ 3 ข้อ คือ

3.1 เป็นทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการ คำว่าควบคุมหมายถึงทรัพยากรดังกล่าว กิจการสามารถนำไปใช้ในกิจการหรือก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ

3.2 เกิดจากเหตุการณ์ในอดีต หรือกล่าวง่ายๆ คือ สินทรัพย์ที่อยู่ในงบดุลต้องมีที่มาที่ไป นั่นคือมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นแล้ว จึงมีผลทำให้ได้มาซึ่งสินทรัพย์

3.3 มีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต หมายความว่าสิ่งที่แสดงเป็นสินทรัพย์ ว่ามีมูลค่าเท่านั้นเท่านี้ จะต้องมีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจหรือกระแสเงินสดสุทธิ (ค่าปัจจุบัน) เข้าไม่น้อยกว่ามูลค่าที่อยู่ในงบ ถ้าดูข้อนี้ใช่ แต่ตกสองข้อแรก ข้อแรกยังไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ และการได้มายังไม่สมบูรณ์ (สร้างยังไม่เสร็จ) การตีมูลค่าโครงการที่ลงทุนจึงยังไม่ได้เวลานี้

นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขอีก 2 ประการคือ ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่กล่าวมานั้นต้องมีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่หรือต้องค่อนข้างมั่นใจพิสูจน์ได้โดยหลักวิชาการหรือหลักฐานว่าจะได้รับ และมูลค่าดังกล่าวต้องประมาณการตัวเลขขึ้นมาได้อย่างน่าเชื่อถือ ผู้สอบบัญชีเขาปราณีแล้ว ที่เอาแค่นิยามมาเป็นเงื่อนในการแสดงความเห็น ในส่วนของผมจะมี 3 ข้อ ผมยังไม่ให้คุณค่าอะไรกับงบกำไรขาดทุนด้วยซ้ำ

สินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน + กำไร (สะสม)

กำไรผิด สินทรัพย์ก็จะผิดด้วย หรือกลับกัน ดังนั้นงบดุลก็ผิดนะครับท่านผู้ลงทุน

ท่าซื้อด้วยมโนหรือไม่ คิดเอาเอง มโนได้แต่ควรถูกหลักการ

วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2560

กฎเหล็กการลงทุนของปีเตอร์ลินช์


กฎเหล็กการลงทุนของปีเตอร์ลินช์

วันนี้พบบทความน่าสนใจ ของ 25 กฎเหล็กการลงทุนของปีเตอร์ลินช์ ที่มีหลายท่านเขียนกันในเว็ป โดยขอให้เครดิตกับ Thaivi.com และ sienhoon.com น่าสนใจทีเดียว ผมขอยกมาเพียงบางหัวข้อแล้วกัน เพื่อเป็นเครื่องเตือนนักลงทุน และขยายเพิ่มมุมมองการลงทุนให้ชัดเจนขึ้น

ปีเตอร์ ลินช์ บอกว่า

- “ผลประกอบการของบริษัทและราคาหุ้นอาจจะไม่มีความสัมพันธ์ในระยะสั้นหนึ่ง เดือนหรือสองเดือนแม้กระ ทั้งสองหรือสามปี แต่ในระยะยาวผลประกอบการของบริษัทและราคาหุ้นมีความสัมพันธ์กัน 100 เปอร์เซ็นต์” อันนี้ตอกย้ำและยืนยันได้ คนที่เรียนกับผม ผมบอกเสมอว่า ไม่มีบริษัทดีที่จะเป็นแนวโน้มลง 5-10 ปี การขึ้นลงรายวัน 1-3 วันติดกันหรือสัปดาห์ ไม่ใช่ประเด็น ปัญหาของคนลงทุนจำนวนมากคือ มองไม่ออกมากกว่าว่าอะไรที่เรียกว่าบริษัทดีหรือไม่ดี บางบริษัทไม่ดี แต่บางคนลงทุน บางคนก็ทนถือไปก็มี บริษัทดีก็มีบางคนขึ้นก็รีบขายทำกำไรแล้ว ส่วนมากเล่นแค่กำไรไตรมาสหน้า ขึ้นตามเป้าก็ขาย ไม่ถึงก็ขาย กำไรไตรมาส กำไรสองหรือสามปี ไม่ใช่ผลประกอบการระยะยาวของบริษัท

- “การวิเคราะห์การลงทุนในระยะยาวเกินไป บ่อยครั้งที่จะคลาดเคลื่อนจากที่คิดไว้”  อันนี้เป็นข้อเตือนใจ ดูเหมือนขัดแย้งกับข้อที่กล่าวมาข้างต้น แต่ในความเข้าใจที่ถูกต้องคือ การลงทุนต้องติดตามสม่ำเสมอ หากปัจจัยพื้นฐานของ บริษัทนั้นแย่ลงก็ควรขาย และที่สำคัญอย่าไปคาดการณ์ตัวเลขกำไรยาวๆ ไม่มีทางถูกหรอกครับ นักลงทุนระดับโลกมากมายที่ประสพความสำเร็จ เขาไม่รู้ชัดหรอกครับว่า อีก 5 ปี บริษัทที่ลงทุนกำไรกี่บาท แต่เขารู้เพียงมันเติบโตดี และเติบโตได้ต่อไป ผมเห็นหลายคนนั่งทำประมาณการยาวๆ บอกได้ว่าไม่มีทางถูกหรอกครับ ถูกก็ฟลุ๊คทำได้ครั้งเดียว ปีต่อๆไปก็ผิด นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ สิ่งสำคัญคือมันโตต่อไปหรือไม่ต่างหากในระยะยาว คนที่เรียนกับผม ผมจะไม่เคยสอนวิธีคาดการณ์ยาวๆ แต่เน้นสอนวิเคราะห์งบการเงินและวิเคราะห์บริษัท ถ้าว่าไปแล้วผมก็ประยุกต์กับหลักปรัชญาตะวันออก ขงเบ้งให้ดูคนจากปัจจุบัน เลือกคบคนจากที่เห็นในวันนี้ คนแบบไหนคบได้คบไม่ได้ ดูจากวันนี้ ไม่ใช่ไปเดาว่าอนาคตจะใหญ่โตไหม จะรวยไหม หลักปรัชญาตะวันออกเน้นปัจจุบัน ถ้าทำดีอนาคตก็จะดีเอง เลือกบริษัทเช่นกัน เลือกบริษัทที่ทำมาดีสม่ำเสมอ ระยะยาวย่อมมีโอกาสดีต่อไป

- “ถ้าพูดถึงบริษัทขนาดเล็กคุณควรจะรอจนกว่าบริษัทมีความสามารถทำกำไรสม่ำเสมอ แล้วค่อยตัดสินใจลงทุน” หลายคนที่เรียนกับผม จะเห็นว่าทำไมผมไม่เคยแนะหุ้นขนาดเล็ก หุ้นเพิ่งเข้าตลาด เพราะข้อมูลทางการเงินน้อย และหุ้นเหล่านี้เรื่องเล่ามากกว่าตัวเลขในอดีตที่มี หุ้น Turnaround ผมก็ไม่เน้น หลายคนที่เรียนกับผมจะรู้ว่าผมเน้นงบการเงินสำคัญที่สุด เรื่องเล่ารองลงไปหรือไม่เน้นเท่าไร ยุคนี้ปั้นเรื่องกันได้ ปล่อยข่าวง่าย งบการเงินต้องยืนยันเรื่องเล่า

- “ไม่มีใครสามารถทำนายอัตราดอกเบี้ย แนวโน้มเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้นได้ ดังนั้นจงติดตามบริษัทที่คุณ ได้ทำการลงทุนไปอย่างสม่ำเสมอ” Rakesh Jhunjhunwala เจ้าของฉายา Warren Buffet แห่ง India บอกว่า Don’t worry about the macro stuff like fiscal deficit, inflation etc., which are unknowable. Focus on what is knowable. อย่ากังวลกับปัจจัยมหภาคมากนัก เช่น การขาดดุลการคลัง เงินเฟ้อ อื่นๆที่ไม่สามารถรู้ได้ จงสนใจกับสิ่งที่สามารถรู้ได้ เช่น ธุรกิจของบริษัทที่คุณลงทุน หลักการเดียวกันกับปีเตอร์ลินช์ และนักลงทุนชั้นนำกับหลายคน ซึ่งประเด็นนีเสริมกับข้อก่อนหน้าที่บอกว่า อย่าคาดการณ์ระยะยาวด้วยเช่นกัน

- “ถ้าเวลาอยู่ข้างเดียวกับคุณ หากคุณลงทุนในบริษัทชั้นดีคุณสามารถที่จะรอได้ แต่หากคุณพลาดการ ลงทุนในหุ้น Wal-Mart มันก็ยังเป็นหุ้นที่น่าซื้ออยู่ดี แต่เวลาจะเป็นศัตรูกับคุณถ้าคุณซื้อออปชั่น” ผมเคยบอกในคลาสหลายครั้งว่าหุ้นดี มีจังหวะซื้อเสมอ อย่าไปเสียดายหากพลาด จงรอจังหวะ ปีเตอร์ ลินช์บอกว่าตลาดหุ้นตกเป็นเรื่องธรรมชาติเปรียบเหมือนฝนที่ต้องตกทุกปี จะมีช่วงคนขายหุ้นดีลงมาให้ซื้อเสมอ แต่อย่าหวังว่าจะลงมาที่เดิมนะ เพราะถ้าพลาดไป เวลาที่ผ่านไปมูลค่ามันต้องเพิ่มขึ้นจากวันที่เราพลาด อันนี้ไม่ใช่พลาดวันสองวัน อาจเป็นเดือนหรือหลายเดือนหรือปี
เอาเท่าที่สำคัญบางข้อ เพียงแต่อยากเน้นย้ำว่าทุกกฎของนักลงทุนที่ประสพความสำเร็จจะเหมือนๆกันหมดคือ ลงทุนบริษัทที่ดี (ข้อนี้ต้องหาเป็นนะครับ ดูเป็นจริงๆ) ราคาเหมาะสม ลงทุนยาวๆ รอและอดทน