วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

อัตราการจ่ายปันผลที่เหมาะสมของธุรกิจ


อัตราการจ่ายปันผลที่เหมาะสมของธุรกิจ

การจ่ายปันผลมากไปก็ใช่ว่าดี น้อยก็ไม่ใช่ว่าไม่ดี เพราะการจ่ายปันผลในแง่ของบริษัท คือการจ่ายสินทรัพย์ (เงินสด) ออกไปจากธุรกิจทำให้สินทรัพย์ลดลง และส่วนเจ้าของ (Equity) ลดลง ซึ่งการเพิ่มขึ้นทดแทนส่วนสินทรัพย์และส่วนของเจ้าของที่ลดลงคือกำไรที่เข้ามาใหม่ถ้าเพิ่มมากขึ้น ภาพโดยรวมสินทรัพย์และส่วนเจ้าของก็จะสูงขึ้นอยู่ดี ดังนั้นถ้าบริษัททำกำไรได้เท่ากับที่ผู้ถือหุ้นต้องการ และไม่สามารถเติบโตไปมากกว่านี้แล้ว ก็จ่ายจากกำไรทั้งหมดคืนผู้ถือหุ้นไป แต่ถ้ากิจการยังโตได้ต่อไป เก็บกำไรไว้เท่าไรดี จ่ายกำไรออกไปหมดก็ต้องกู้มาขยายธุรกิจ ไม่ก็ต้องเพิ่มทุนเพื่อมาลงทุนเพิ่ม ไม่จ่ายเลยก็ดูเหมือนผู้ถือหุ้นอาจจะไม่พอใจได้ ถ้ามองฝั่งเดียวคือแหล่งทุน sources of fund จะได้สมการการเติบโตดังนี้

  growth (g) = ROE * (1- pay-out ratio) ; pat-out ratio คืออัตราจ่ายปันผลจากกำไรสุทธิ

กำไรที่เก็บไว้คือตัวสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ แต่ใช่ว่าการเก็บไว้ทั้งหมดจะดีเสมอ เพราะการเติบโตธุรกิจโดยส่วนมากขึ้นกับการเติบโตอุตสาหกรรม การที่จะเติบโตมากกว่าอุตสาหกรรมในระยะสั้นอาจไม่ยาก แต่ในระยะยาวไม่ง่าย เพราะคู่แข่งขันเดิมในตลาดย่อมปกป้องส่วนแบ่งตลาดของตนไว้ การเติบโตมากกว่าตลาดจึงไม่ใช่เรื่องง่ายในระยะยาว (ช่วงสั้นอาจทำได้ แต่รักษษาไว้อาจยากเพราะสุดท้ายก็จะถูกแย่งกลับ) ในทางทฤษฎีจึงมองว่า market growth คือตัวแทนที่ดี ดังนั้นสรุปได้ดังนี้คือ

ถ้าให้   Gi  คือการเติบโตอุตสาหกรรม

          Gs คือการเติบโตจากกำไร = ROE * (1- pay-out ratio)

1.      Gi > Gs จ่ายกำไรมากเกินไป โตด้วยตัวเองไม่ทัน อาจนำไปสู่การก่อหนี้เพิ่ม คือมี  D/E เพิ่มขึ้น อาจต้องเพิ่มทุนได้ ซึ่งผู้ถือหุ้นก็อาจยอม แต่กำไรถูก dilute เป็นสาเหตุให้ราคาลดลงได้

2.      Gi = Gs เป็นอัตราการจ่ายปันผลจากกำไรที่ดีที่สุดที่บริษัทสามารถเติบโตไปพร้อมอุตสาหกรรม ในขณะที่รักษาระดับ ROEไว้ได้ D/E ก็คงที่ได้ ไม่ต้องเพิ่มทุน ไม่ต้องเพิ่มสัดส่วนระดับหนี้ต่อทุน ราคาหุ้นสามารถเติบโตตามอุตสาหกรรมในระยะยาว

3.      Gi < GS เก็บกำไรไว้เกินจำเป็น นำไปสู่ ROE ลดลงเพราะส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มเร็วกว่ากำไรที่ทำได้ เมื่อ ROE ลดลงทำให้ราคาหุ้นมีแนวโน้มลดลงได้

เราเรียก Gs ว่า Sustainable Growth การเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ดังนั้นถ้าจะสรุปอีกครั้ง การเติบโตของบริษัท มากจาก

1.       การเติบโตของอุตสาหกรรม

2.       นโนบายการเงินและการบริหาร

3.       กลยุทธ์การแข่งขันของบริษัท

การเติบโตของอุตสาหกรรมจะเป็นแรงขับดันเบื้องต้น ในสมมติฐานการเงินทั่วไปเบื้องต้น หากธุรกิจรักษาระดับการแข่งขันได้ (คงที่) รักษาความสามารถในการผลิต การดำเนินงาน เมื่ออุตสาหกรรมขยายตัว 10% ส่วนแบ่งการตลาดไม่เปลี่ยนแปลง ยอดขายควรเติบโต 10% เช่นกัน ต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายเพิ่มในอัตราเท่ากับยอดขาย กำไรก็ควรเพิ่มในอัตราเท่ากัน แต่การเพิ่มขึ้นของยอดขาย ย่อมทำให้กิจการต้องมีทุนหมุนเวียนสุทธิ (Net working capital NWC) เพิ่มขึ้นด้วย ถ้าเราให้อัตราการทำกำไรคงที่  ROA (EBIT/TA) = 10% และทุกยอดขาย 1 บาท ต้องลงทุนใน NWC 0.2 บาท โดยให้ NWC = ลน. + สค. –จน.  (ให้ สท.หมุนเวียน และ นส.หมุนเวียน เท่ากัน) ดังนั้นยอดขายเพิ่ม 10% ย่อมต้องการ NWC เพิ่ม 10%

           ด้านการเงินคือการจ่ายปันผล ที้ต้องให้เหมาะสม บริษัทจ่ายปันผลมากใช่ว่าดีเสมอ หรือน้อยก็ไม่ได้แย่ตลอด แน่นอนการจ่ายเงินปันผลมากบริษัทต้องมีกำไรมาก และที่จ่ายปันผลสูงมิใช่หมายถึงการวัดที่จำนวนเงิน แต่วัดที่อัตราเงินปันผล (dividend yield) หรือ เงินปันผลต่อหุ้นหารด้วยราคาหุ้น เช่น A จ่ายปันผล 10 บาทต่อหุ้น ราคาหุ้น 400 บาท คิดเป็น yield = 2.5% อีกบริษัท B จ่าย 1.5 บาทต่อหุ้น ราคาหุ้น 50 บาท yield = 3% B จ่ายปันผลดีกว่า A

               แต่ในมุมการวิเคราะห์การเงินแล้ว จะดูเพียงอัตราผลตอบแทนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาอีก 3 ค่าด้วยคือ อัตราการจ่ายเงินปันผล (Payout = Dividend/Profit) ROE (Return on Equity) อัตราผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น และอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรม เพราะทั้งสามค่ามีผลกระทบต่อโครงสร้างทุน (D/E) ซึ่งโครงสร้างทุนจะมีผลต่อ ต้นทุนของทุน (Cost of capital) และต้นทุนของทนนี้ก็จะกระทบต่อไปยังมูลค่าหุ้น เพราะสุดท้ายราคาหุ้นก็ขึ้นกับ ผลรวมของกระแสเงินสดในอนาคตคิดลดด้วย WACC (ต้นทุนของทุน)

               ถ้า เรานำ DDM Model P = D/(k-g) และ สูตร DY (Dividend Yield) = D/P จะได้ P =D/DY จะเทียบเคียงได้ว่า DY = (k –g) การประยุกต์ใช้ก็ดูว่าตอนนี้ราคาหุ้นซื้อขายที่เท่าไร DY เท่าไร สมมติ Trade ที่ DY = 1.87% ถ้า เรามี k ที่ต้องการราว 19% แสดงว่าต้องมี g = 17.13% เราก็มาดูว่ากำไรระยะสั้น EPS โตสักกี่ % เฉลี่ยสามปี หรือห้าปี เติบโตได้ 17.13% หรือไม่ ระยะสั้นอาจได้ แต่พอดูสามปีห้าปี อาจจะยากแล้ว ก็แปลว่า ถือได้ไม่เกินปี ถ้าถือยาวๆ อาจไม่ใช่ระดับราคาที่ควรลงทุน

               CEO และ CFO ที่เก่ง ต้องกำหนดอัตราเงินปันผลที่เหมาะสมเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของกิจการ เพราะการจ่ายอัตราเงินปันผลที่สูงมากเกินไป ในขณะที่อุตสาหกรรมก็กำลังอยู่ในช่วงเติบโตสูง อาจจะทำให้ D/E สูงขึ้น และถ้าต่อเนื่องหลายปี สุดท้ายก็ต้องเพิ่มทุนเพื่อลดความเสี่ยงทางหนี้สิน และการเพิ่มทุนย่อมกระทบต่ออัตรา ROE เมื่อ ROE ลด ย่อมกระทบกับราคาหุ้นในระยะยาว

             ค่าทางการเงินหนึ่งคือ sustainable growth (การเติบโตที่ไม่กระทบต่อโครงสร้างทุน สามารถเติบโตด้วยความสามารถการดำเนินงานเองอย่างต่อเนื่อง) เป็นค่าที่สำคัญ ในทางการเงินให้นิยาม g = ROE x (1 - payout)

             เช่น A มีกำไรต่อห้น EPS = 10 บาท จ่ายปันผลต่อหุ้น 40% หรือจ่าย DPS = 4 บาท ถ้า A มี ROE = 15%, sustainable growth A = 15% x (1-0.4) = 9% ดังนั้นอัตรานี้จึงไม่ใช่การเติบโตของอุตสาหกรรม แต่คือตัวบริษัทที่เติบโตได้ภายใต้เงื่อนไขไม่เพิ่มทุน ไม่ก่อสัดส่วนหนี้ต่อทุนเปลี่ยนไป

ถ้าอุตสาหกรรมที่ A ดำเนินธุรกิจอยู่ เติบโตในอัตรา 9% ถือว่ามีการจ่ายปันผลในอัตราที่เหมาะสม A สามารถดำเนินธุรกิจไปได้ โดยเติบโตไปพร้อมๆ อุตสาหกรรม ด้วยแหล่งทุนจากการดำเนินธุรกิจ โดยรักษา D/E คงที่ไปตลอด ไม่มีความสี่ยงด้าน solvency (ความอยู่รอด) รักษาระดับ market share ได้

               ทีนี้ถ้าอุตสาหกรรมโตมากกว่า 9% สมมติว่า 12% หาก A จ่ายปันผล 40% ROE ยังต้องการได้ที่ 15% และมี market share เท่าเดิม (รักษาความสามารการแข่งขันทางการตลาดไว้) จะทำให้ A ต้องก่อหนี้สินเพิ่มขึ้น ระดับ D/E จะเพิ่มขึ้น ในระยะยาวเมื่่อโครงสร้างทุนมีหนี้เพิ่มขึ้น ต้นทุนของทุนเฉลี่ยโดยรวมจะเพิ่มขึ้น (Re หรือ Rk เพิ่มขึ้น) ราคาหุ้นก็จะลดลง

ในทางตรงข้าม ถ้าอุตสาหกรรมโตเพียง 5% แต่กิจการจ่ายปันผลแบบเดิม มีอัตราเติบโต sustainable growth 9% ถ้าบริษัทมีความสามารถในการแข่งขันเท่าเดิม ส่วนแบ่งตลาดเท่าเดิม ROE จะลดลงในระยะยาว (เก็บกำไรไว้แต่โดยรวมกำไรเพิ่มในอัตราที่น้อยกว่ากำไรสะสมที่เพิ่มส่วนทุนรวมจะเพิ่มเร็วกว่ากำไรที่ได้)

            ดังนั้นกิจการที่ดี ต้องมองทั้ง 3 มิติร่วมกันไปพร้อมกัน คือ Payout, ROE และ Industry growth นอกจากนี้ growth ของธุรกิจนอกเหนือจากอุตสาหกรรมแล้วยังมาจากกลยุทธ์ภายในของธุรกิจเองด้วย ซึ่งประเด็นหลังนี้ในหลักการบริหารจัดการคือ การสร้างความได้เปรียบทางการตลาดนั่นเอง มองในภาพรวม อุตสาหกรรมโต 9% แต่กิจการอาจโตมากกว่าได้ สมมติโต 15% แน่นอนการโตนี้หมายความว่ากิจการต้องใช้การขยายงานจากแหล่งทุนซึ่งหามาได้จากสองแหล่งคือ ภายในจากกำไรของกิจการเอง และการใช้แหล่งทุนจากภายนอก (กู้ยืมและเพิ่มทุน ถ้าต้องการรักษา D/E ก็ต้องเพิ่มเข้าในสัดส่วนเดิมโครงสร้างทุนจึงไม่กระทบ)

            การเติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรมย่อมเป็นสิ่งปรารถนา แต่ในระยาวของเศรษฐกิจเปิดเสรีแล้วระยะยาวจะเติบโตโน้มเข้าหาอุตสาหกรรม

อัตราการเติบโตนี้ควรดูจากการเติบโตจากยอดขาย (กลยุทธ์เติบโตหรือ Groeth Strategy) ไม่ควรใช้กำไร เพราะกำไรอาจเพิ่มลดจากรายการ one time gain/loss หรือการเพิ่ม/ลด ของรายจ่าย แต่อย่าไปสับสนกับการคำนวณหา PEG หรือค่า พีอีหารอัตราการเติบโต (PEG) ของปีเตอร์ลินท์ อัตราการเติบโตตัวนั้นคืออัตราการเติบโตกำไร

          การจ่ายปันผล ถ้าอุตสาหกรรมยังโตสูงๆ กิจการที่มี ROE สูงมากๆก็สามารจ่ายปันผลได้ในสัดส่วนสูง แต่ถ้า ROE ทำได้ไม่มากก็ควรจ่ายในอัตราที่ต่ำ ในทางกลับกัน ถ้าอุตสาหกรรมเติบโตต่ำลง อัตราการจ่ายปันผลควรจะเพิ่มขึ้น

ในอดีตมีตัวอย่างจริงให้เห็นมาแล้ว เช่น TISCO ในอดีตที่เป็น บงล. ราคาหุ้นขึ้นตลอด และไม่เคยจ่ายปันผลเลย อุตสาหกรรมโตราว 30% มี ROE เกือบ 30% เช่นกัน และเป็นหุ้นที่เพิ่มทุนน้อยมาก ราคาก่อนเกิดวิกฤติเป็นพัน บงล. ล้มกันเยอะ แต่ตัวนี้รอด และสุดท้ายก็เป็นธนาคาร เทียบกับ บงล. หลายตัวในยุคนั้น เพิ่มทุนกันเป็นว่าเล่น สุดท้ายเจ๊งกันระนาว ถ้าใครมีโอกาสได้วิเคราะห์ลึกๆทางการเงินจากงบการเงินจะเห็นชัด นักลงทุนยุคนั้นเล่นกันแต่หุ้นไฟแนนซ์และอสังหาฯ  เหมือนยุคนี้ที่เห่อหุ้นพลังงานและค้าปลีก

            บางตัวดี บางตัวก็ดีแบบเวอร์ สร้าง deal อลังการ แต่ในทางการเงินแท้จริงซ่อนมีดไว้เยอะ ไม่เห็นง่ายๆหรอกในช่วงสั้นปีครึ่งปี

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559

วิธีการตกแต่งรายได้ แล้วโอนถ่ายไซฟ่อนเงินออกจากบริษัท


วิธีการตกแต่งรายได้หลอกนักลงทุน แล้วโอนถ่ายไซฟ่อนเงินออกจากบริษัทแบบเนียนๆ เอาสองวิธีก่อนความจริงมีมากครับ ทั้งสองแบบมักทำไม่ยากโดยเฉพาะกิจการที่ผู้บริหาร (มีแน้วโน้ม) ฉ้อฉล

วิธีแรกแรก แต่งกำไรสร้างรายได้ให้ดูโตหรือก้าวกระโดด พอกำไรเพิ่มหุ้นก็ราคาเพิ่ม เจ้าของก็ขายหุ้นออก ทั้งที่บริษัทมีกำไร

-การตกแต่งรายได้ ด้วยการเร่งรับรู้รายได้งวดอนาคตมาเป็นของงวดปัจจุบัน

พวกนี้มักเจอบ่อยในธุรกิจที่รายได้เกิดจากการประมาณ เช่นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งได้กล่าวไปถึงหลายครั้งพอควร อีกกลุ่มที่ต้องระวังคือกลุ่มที่มีรายได้รับมาล่วงหน้า เช่นธุรกิจอินเตอร์เน็ต ธุรกิจขายบัตรรายได้ล่วงหน้า เช่นบัตรโทรศัพท์ ค่าสมาชิกรายปี เช่น CAWOW (แคลิฟอร์เนียว๊าว เจ๊งไปเรียบร้อยแล้ว) ต้องพิจารณาจากลักษณะธุรกิจว่ามีเหตุให้เกิดหรือไม่ รายได้กระโดดผิดปกติหรือไม่ หุ้นพวกนี้ดูกระแสเงินสดจะไม่พบ เพราะรับมาจริง แต่แทนที่จะทยอยรับรู้มักลงทันทีทำให้รายได้สูง หนี้สินรายได้รอรับรู้ต่ำ ควรตรวจรอบการหมุนเวียนรายได้รอรับรู้ (รายได้/รายได้รอรับรู้เฉลี่ย) ถ้าสั้นมากก็พิจารณาว่าเป็นปกติหรือไม่ เช่น ออกมาได้ 6รอบต่อปี หรือหมุนเวียนตัดบัญชีเป็นรายได้ ทุกสองเดือน แต่ถ้าเราทราบว่าปกติรับสมาชิกเป็นรายปี อย่างนี้มีเหตุให้สงสัยแล้ว เป็นต้น บริษัทผลิตของขายก็ทำได้ เช่นกำลังเอาหุ้นเข้าตลาดหรือทำห้กำไรไตรมาสล่าสุดยอดขายกระโดด เช่นยอดขายช่วงเปลี่ยนไตรมาส แทนที่ไตรมาสนั้นจะมียอดขายเพมิ่ก็แต่เลื่อนส่งของข้ามเวลาจาก ก่อน 31 มีนาคม x1 ไปส่งวันที่ 2-3 เมย. X1 แค่นี้รายได้ก็อยู่คนละไตรมาสแล้ว แต่วิธีนี้มักจะเกิดได้กับธุรกิจขายส่งเป็นล๊อตๆ ขายเป็นครั้งๆ ครั้งละมากๆ ถ้าน้อยๆก็อาจไม่คุ้มค่า ไตรมาสแรกยอดขายตก แล้วมาเพิ่มมากไตรมาสสอง เจ้าของก็ช้อนซื้อไตรมาสแรก เก็บจนพอก็มาบอกนักลงทุนว่าไตรมาสหน้ายอดขายจะเพิ่มจากจากไตรมาสแรกแน่นอน พอใกล้จบไตรมาสสองก็ปล่อยอินไซด์รายได้แล้วจะเพิ่มตามเป้าหมายที่นี้ปลายไตรมาสสองหุ้นขึ้นก็ขายทำกำไร จับยังไงละขายของเป็นจริงทั้งหมด



-การตกแต่งรายได้ด้วยการบันทึกรายได้เทียม/เท็จ พวกนี้ก็จะมีลูกหนี้ปลอมด้วย ดังที่กล่าวมาดูยาวๆรายไตรมาสประกอบ และดูงบกระแสเงินสดประกอบก็จะชัดเพราะพวกนี้กำไรพุ่งสูง แต่กระแสเงินสดรับจากการดำเนินงานต่ำ (ลูกหนี้เทียมย่อมไม่เกิดกระแสเงินสดรับเข้า) อันนี้ทำกันในอดีตมาก เริ่มมีการจับทางได้มากขึ้นแล้ว บริษัทที่ระบบไม่ดีทำง่าย เพราะขาดการตรวจสอบ บริฐัทใหญ่ก็ทำได้นะ อย่างเทสโก้ในต่างประเทศที่หลอกบัฟเฟตต์



วิธีที่สองเอาเงินออกจากบริษัท

- ใช้วิธีผ่านการซื้อหุ้นคืน คือการเอาเงินบริษัทลงทุนในตัวเอง ซึ่งจะได้ผลตอบแทน ROE มักอ้างว่าราคาหุ้นต่ำกว่าราคาพื้นฐาน ดังนั้นถ้าบริษทใดมี ROE ต่ำก็ถือว่าไม่คุ้มค่า ไม่ใช่เห็นหุ้นตัวเองลดลงก็เอาเงินมาซื้อคืน ทั้งที่บริษัทหุ้นลงเพราะแนวโน้มความสามารถในการทำกำไรเริ่มลดลง เช่นธุรกิจเหมืองถ่านหินแนวโน้มสดใสอยู่หรือไม่ ราคาปิโตรเคมีอยู่ในวงจรขาขึ้นหรือไม่ ตลาดส่งออกไก่แช่แข็งยังดีอยู่หรือไม่ การอ้างใช้เหตุผลอ้างว่าหุ้นตัวเองนั้นมีมูลค่าที่ต่ำ ดูจะไม่มีน้ำหนักในทางหลักการลงทุนหรือหลักทางการเงิน ซ้ำบางบริษัทมีปัญหาเรื่องของธรรมาภิบาล อาจรู้ล่วงหน้าว่าจะเรื่มซื้อคืนเมื่อไร ให้บริษัทซื้อให้หุ้นขึ้นเพื่อตัวเองขายแล้วรอลงเพื่อซื้อกลับ เป็นรูปแบบการผ่องถ่ายหรือการไซฟ่อนเงิน (Siphon) ได้ทางหนึ่ง และอีกมุมคือ เป็นการบอกนัยๆ ว่า ไม่มีโครงการดีๆ ทำเพื่อเพิ่มมูลค่าบริษัทอีกแล้ว เงินเหลือเลยเอามาซื้อหุ้นตัวเองคืน นั่นคือ g (อัตราการเติบโต) เท่ากับหรือน้อยกว่า 0 แล้ว

- อีกวิธี อันนี้เก่า โบราณหน่อย ก็คือให้กรรมการกู้ยืม (กรรมการเป็นลูกหนี้) จากนั้นก็ตัดหนี้สูญ เดี๋ยวนี้ไม่ทำแล้วเห็นงบปั๊บรู้เลยว่ากำลังโกงบริษัท แต่บริษัทนอกตลาดหุ้นยังทำกันบ้าง



- อันนี้ทำตรงข้ามคือบริษัทไปกู้กรรมการ (กู้หลอกๆ) กรรมการเป็นเจ้าหนี้เงินให้กู้ยืม แล้วจ่ายดอกเบี้ยให้กรรมการ บางคนถามว่าดูไม่คุ้ม อย่าลืมครับกู้หลอกๆ บางคร้งผ่านวิธีทางบัญชีก็ได้ ทำอย่างไรถึงเครดิตเจ้าหนี้ขึ้นได้ ก็ต้องหาอะไรมาเดบิต ซึ่งด้านเดบิด มีสองทางหลักๆคือ ไม่ลงสินทรัพย์ก็ค่าใช้จ่าย ถ้าสร้างค่าใช้จ่ายกำไรก็ลด ก็สร้างสินทรัพย์ซะ สินทรัพย์ที่ตรวจสอบยากตัวหนึ่งคือค่านิยม การทำโดยซื้อบริษัทตนเองสูงๆ ครั้งแรกก็ได้หรือจ่ายบ้างส่วน บางส่วนให้กรรมการจ่ายแทน ความจริงคนรับเงินค่าขายก็คนๆเดียวกัน แค่ทำจ่ายช้าให้บริษัทเสียดอกเบี้ยอีกหน่อยสักระยะ



- ผ่านการทำรายการระหว่างกัน บริษัทนั้นจะมาควรเป็นบริษัทย่อย ให้คงไว้ในฐานะบริษัทที่เกี่ยวข้องดีที่สุด

เพราะรายการแค่เปิดเผยในหมายเหตุ แต่ไม่ตัดรายการระหว่างกันเพราะไม่ต้องทำงบการเงินรวม สมมติ บริษัท ก คือบริษัทในตลาด  บริษัท ข ซื้อสินค้าจากบริษัท ก ก็มียอดขาย มีกำไร แต่อาจน้อยลงนิดหน่อย บริษัท ข อยู่นอกตลาดและบริษัท ก ไม่ได้ถือหุ้นเกิน 20% จึงไม่ใช่ร่วมหรือย่อย บริษัท ข เอาสินค้าขายกรรมการที่ตั้งนอมินีอีกต่อ แล้วสินค้าให้ลูกค้าแทนบริษัท ก ซึ่งบริษัม ก ก็ลงขาย ลงกำไร ส่วนบริษัท ข อยู่นอกตลาด ขายนอมินีแล้วปล่อยเครดิตยาวๆ เลย กำไรก็เข้านอมินีไป จ่ายปันผล 100% ส่วนบริษัท ข จะอยู่จะไปไม่เกี่ยวกับใครเลย

วิธีการตัดราคาค่าเสื่อมที่เหมาะสมสำหรับสัมปทานคลื่นมือถือ ทางด่วน และรถไฟฟ้าใต้ดิน


วิธีการตัดราคาค่าเสื่อมที่เหมาะสมสำหรับสัมปทานคลื่นมือถือ ทางด่วน และรถไฟฟ้าใต้ดิน

วิ๊การคิดค่าเสื่อมราคามีหลายวิธีในทางบัญชี ในทางปฏิบัติไม่ได้กำหนดตายตัวในมาตรฐานว่าอะไรดีหรือเหมาะที่สุด แต่ในทางทฤษฎีมีแนวคิดอยู่

วิธีในการตัดค่าเสื่อมราคา ในทางทฤษฎีทางบัญชีนั้น การเลือกวิธีใดนั้นมีเหตุผลที่แตกต่างกันคือ

1. วิธี Straight Line เหมาะกับสินทรัพย์ที่เสื่อมมูลค่าตามระยะเวลาโดยตรง การหมดประโยชน์เกิดขึ้นเพราะเงื่อนเวลาโดยตรง และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมค่อนข้างคงที่ตลอดการใช้งาน แนวคิดสำคัญเรื่องค่าเสื่อมนั้นเดิมในทางทฤษฎีทางบัญชีจะมองว่า ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมเมื่อรวมกันแต่ละปีจะคงที่ ถ้าค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาและซ่อมแซมค่อนข้างคงที่ ค่าเสื่อมราคาควรจะใช้วิธีเส้นตรง

2. วิธีลดลง (Declining Method) วิธีนี้การคิดค่าเสื่อมจะสูงในปีแรกๆ ลดน้อยลงในปีหลังๆ (ทั้ง Double Declining และ Sum of the yeas digit) แนวคิดสำคัญเรื่องค่าเสื่อมนี้จะมองว่า ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมจะเกิดน้อยในช่วงปีแรกๆ และจะเพิ่มขึ้นในช่วงหลังๆ ส่วนค่าเสื่อมจึงตัดมากในปีแรกๆ และลดลงในปีหลังๆค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมเมื่อรวมกันแต่ละปีจะคงที่เช่นกัน

3. ส่วนวิธีสุดท้าย Unit of Production อยู่บนหลักคิดที่ว่าประโยชน์สินทรัพย์หมดลงตามผลผลิตที่เกิดหรือใช้งาน โดยแนวคิดนี้ไม่คึงนึงถึงค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซม Unit of Production นี้คิดได้ 2 แบบคือ หน่วยผลิตสินค้าหรือชั่วโมงการผลิต (ชั่วโมงการใช้งาน)

4. การกำหนดวิธีไม่เหมาะสมอาจจะให้มูลค่าของสินทรัพย์ที่เหลือสุทธิต่างไปจากความเป็นจริงมาก ก็ไม่ต่างจากการกำหนดอัตราคิดค่าเสื่อมไม่เหมาะสม ย่อมไม่เป็นผลดีกับกิจการในระยะยาว

5. ค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ระยะยาวที่เกิดขึ้นก็สามารถใช้หลักการเดียวกัน มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เช่น BECL ที่ตัดค่าตัดจำหน่ายสิทธิในการใช้ประโยชน์บนงานก่อสร้างด้วยวิธี Unit of Production คือ สิทธิในการใช้ประโยชน์บนงานก่อสร้างที่เสร็จแล้วตัดจำหน่ายเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนตามปริมาณรถที่ใช้บริการ มองแล้วอาจไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าดูตามข้อเท็จจริง ค่าสิทธิ์นี้ก็คือ ค่าสัมปทานซึ่งประโยชน์จากการใช้ในความจริงหมดประโชน์ตามเงื่อนเวลามากกว่าหมดเพราะปริมณรถยนต์ที่ขึ้น สมมติว่าปีนั้นรถไม่ขึ้นทางด่วนเลยไม่เกิดค่าตัดจำหน่ายสิทธิในการใช้ประโยชน์เป็นค่าใช้จ่ายเลยหรือ แล้วสัมปทานหมดอายุลงไป 1 ปี มูลค่าจะไม่ลดลงตามหรือ ทำนองกลับกัน ถ้ารถขึ้นมากประโยชน์สัมปทานจะหมดลงเร็วหรือ ก็ไม่ใช่ดังนั้นปริมาณรถจึงไม่ใช่เงื่อนไขของการตัดค่าตัดจำหน่ายสิทธิในการใช้ประโยชน์ ควรจะตัดแบบเส้นตรงมากกว่า และที่ต้องเข้าใจคือหากประมาณการรถยนต์ที่คาดว่าจะเกิดตลอดอายุการใช้งานผิด (ซึ่งต้องผิดแน่นอนเพราะไม่มีใครรู้ได้แท้จรงแน่นอนหรือใกล้เคียง) ถ้าคาดการณ์ไว้มากเกิน การตัดจำหน่ายค่าสัทปทานแต่ละปีจะต่ำและมูลค่าสินทรพย์สุทธิสัมปทานจะสูงในปีสุดท้ายที่หมดอายุ ซึ่งเมื่อสัมปทานหมดอายุ ต้องตัดทิ้งทั้งหมดในปีสุดท้าย ผลคือปีสุดท้ายจะขาดทุนมากหรือกำไรต่ำกว่าปกติ

6. ดังนั้นแทนที่กำไรจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่รายได้เพิ่มมากขึ้นจากปริมาณรถที่ใช้เพิ่มขึ้น กลับถูกลดลงจากค่าตัดจำหน่ายสิทธิในการใช้ประโยชน์บนงานก่อสร้างที่เสร็จแล้ว เมื่อกำไรลดลง เงินปันผลย่อมลดลง ในทางตรงข้ามกรณีที่รถใช้น้อยลง กำไรก็จะสูงกว่าที่ควร แต่เนื่องจากธุรกิจนี้ไม่ต้องสำรองเงินสดเพื่อซื้อทดแทนสินทรัพย์ที่หมดประโยชน์ กระแสเงินสดจึงสามารถจ่ายได้ทั้งหมดของกำไร และ D/E ควรมีแนวโน้มลดลง แต่บริษัทกลับมี D/E ที่แกว่งไม่แน่นอน นั่นเป็นเพราะการกำหนดอัตราค่าตัดจำหน่ายไม่เหมาะสมส่วนหนึ่ง ทำให้เงินสดไหลออกโดยไม่เหมาะสม

7. เรื่องค่าเสื่อมบางคนว่าง่ายๆ มันก็สามารถมีประเด็นทางการเงินได้ บางคนว่าแค่บัญชียังงงเลย เอาว่ารู้ผลกระทบแต่ไม่ต้องรู้ว่าลงอย่างไร อย่าสนใจว่าตัดอย่างไร ถูกหรือไม่ คำถามคือภาพกว้างๆ เหมาะสมไหมพอ

8. อาคาร โรงงาน สิ่งก่อสร้าง เหมาะกับการตัดค่าเสื่อมด้วยวิธีเส้นตรงเพราะอายุการใช้งานหมดหรือลดลงตามเวลา ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบำรุงรักษาเกิดขึ้นตามงวดเวลา ไมได้สัมพันธ์กับหน่วยผลิต
9. เครื่องจักร สามารถใช้ได้ทั้งเส้นตรง อัตราลดหรือหน่วยผลิต เพราะ เครื่องจักรบางอย่างประโยชน์หมดลงตามอายุการใช้งาน บางประเภทอาจใช้อัตราลดเพราะประสิทธิภาพมักสูงในช่วงแรกที่ใช้ และลดลงในชวงต่อมา ทำให้ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบำรุงรักษาช่วงปลายสูง แต่เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วกิจการพยายามรักษายอดการผลิตให้คงที่ต่อเนื่อง ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยรวมจึงควรคงที่ตามหลัก Matching การจับคู่รายได้และค่าใช้จ่าย นี่คือเหตุผลที่ซ่อนอยู่ในหลักคิดเรื่องค่าเสื่อม ว่าทำไมจึงมี Declining Method
10. อุปกรณ์สำนักงาน เฟอร์นิเจอร์ หมดประโยชน์การใช้งานตามเวลา
11. อุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ IT ควรใช้อัตราลดเพราะประสิทธิภาพมักสูงในช่วงแรกที่ใช้ และลดลงในชวงต่อมา 
12. วิธีอัตราลดไม่ค่อยนิยมใช้เพราะด้วยเรื่องการคิดบางช่วงอัตราไม่เป็นไปตามเกณฑ์ภาษีจึงเลี่ยงใช้แต่เส้นตรงเพราะง่ายและสะดวกกว่า ทั้งในการคำนวณภาษีก็สะดวกกว่า
13. ทำให้งบการเงินทุกวันนี้ PPE มูลค่าที่แสดงจึงอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงนัก แต่ในด้านการวิเคราะห์ถ้ามองภาพรวม เช่น ROA ATจะไม่น่ากังวลนัก เพราะหากตัดมากเกินไป สำรองที่เกิดขึ้นจะสะสมอยู่ในงบดุลที่รายการอื่น (เช่น เงินสด สินค้า ลูกหนี้ฯ เป็นต้น) ถ้าตัดน้อยไป การสำรองก็จะต่ำ และอาจจ่ายปันผลระหว่างทางมากไป และเกิดการก่อหนี้เพิ่ม
14. ดังนั้นในหลักการวิเคราะห์ เรื่องตัดค่าเสื่อมมากไปหรือน้อยไป อาจไม่น่าห่วงมาก เพราะในการวิเคราะห์ ไม่ควรดูเฉพาะเรื่อง ทุกอัตราส่วนสัมพันธ์กันหมด และการสรุปผลอย่าเน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ดูแต่ Profitability เช่น GM NM ROE ROA แต่ต้องดูด้วยว่ากำไรที่ดีนั้น ความเสี่ยง(D/E) สูงด้วยหรือไม่ การหมุนเวียนของ ลน จน สค และสินทรัพย์ดีด้วยหรือไม่ วงจรเงินสดเป็นอย่างไร คุณภาพกำไรเป็นอย่างไร
15. ความไม่สอดคล้องของอัตราส่วนหรือด้านใดด้านหนึ่งที่อ่อนแอมันจะปรากฎเองจากอัตราส่วน และกิจการที่พยายามทำกลบัญชี ถ้าอ่านงบให้ดี วิเคราะห์ให้ดี ก็จะเห็นได้ไม่ยาก
16. ราอาจไม่ทราบว่าตกแต่งขายหรือไม่โดยตรง แต่เมื่อไรก็ตามที่ตกแต่งยอดขายรอบหมุนเวียนลูกหนี้มักจะยาวผิดปกติคุณภาพกำไรจะต่ำแต่อัตรากำไรขั้นต้นสูง เป็นต้น

ผลกระทบจากการออกกองทุน Infrastructure Fund


ผลกระทบจากการออกกองทุน Infrastructure Fund หรือ การขายสินทรัพย์เพื่อออกกองทุน REIT ของบางกิจการ ที่ขายสินทรัพย์ออกแล้วเช่าสินทรัพย์กลับ งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุนฯ และงบกระแสเงินสด



ที่ผ่านมามีการขายสินทรัพย์ออกแล้วเช่าคืนจากกองทุนกลับแทน เอาเงินที่ได้ไปลดหนี้ แต่ผลประกอบการกลับไม่ดีขึ้นมากนัก แค่ลดหนี้ลงได้มาก มองให้ดีๆ ก็เหมือนเอาเงินคนซื้อกองทุนไปจ่ายหนี้แทนก่อน แล้วบริษัทผ่อนจ่ายดอกเบี้ยเป็นรายได้กองทุน (ค่าเช่ารับ) แทน ถ้ามองจากสมการบัญชี

ส/ท    =   น/ส   +  ทุน   === >  ขาย ส/ท บางส่วนออกให้กองทุน แม้บริษัทจะถือได้แต่ไม่เกิน 1ใน 3 ตามข้อกำหนดทางการ จึงมำให้กองมีสภาพดีสุดจะเป็นเพียงบริษัท (เงินลงทุน) ร่วม เพื่อให้สะดวกมองแบบขายขาด (ถึงแม้ถือแบบร่วมผลกระทบก๋ลักษณะเดียวกัน)



เงินสด1   + ส/ท (ที่เหลือ)  =   น/ส1  +  ทุน  +  กำไรจากการขาย ส/ท

เอาเงินสดที่ได้จากการขาย ส/ท ให้กองทุนไปจ่ายหนี้ กองทุนได้เงินจากการขายหน่วยกองทุนกับ public

เงินสด2  +  ส/ท (ที่เหลือ)  =   น/ส2  +  ทุน  +  กำไรจากการขาย ส/ท

1. เมื่อ น/ส ลดลง D/E ก็จะดูดีขึ้น ดอกเบี้ยจ่ายลดลง

2. ส/ท ลดลง การตัดค่าเสื่อมก็ลดลง

3. ที่สรุปผ่านมาสองข้อดูเหมือนค่าใช้จ่ายลดลง กำไรน่าจะสูงขึ้น แต่........

4. เมื่อบริษัทขาย ส/ท ออกให้กองทุน ส/ท ที่จำเป็นต้องใช้สร่างรายไดหมดไป ก็ต้องเช่ามาเพื่อใช้ดำเนินงาน ซึ่งหากเป็นโทรคมนาคม (สื่อสาร) จำเป็น ไร้เสาก็จบ ต้องมีเสา

5. กองทุนไปหาเงินจากการขายหน่วยก็ต้องจ่ายผลตอบแทนที่จูงใจพอให้คนมาซื้อหน่วย ซึ่งก็ต้องให้เห็นว่ามีรายได้พอประมาณหักค่าใช้จ่าย (หลักๆ ก็คือค่าเสื่อมราคาเสาที่ซื้อสูงกว่าราคาตามบัญชีหรือที่จ่ายให้บริษัทนั่นเอง)

6. หมายความว่าต้องเก็บค่าเช่ามากกว่าค่าเสื่อมราคา ดังนั้น บริษัทที่ขาย ส/ท ออกให้กองทุนต้องจ่ายค่าเช่ามากขึ้นกว่าค่าเสื่อมที่ลดลง ค่าใช้จ่ายดำเนินงานจะสูงขึ้น และหากมองดีๆ กองทุนขายได้ ผลตอบแทนต้องจูงใจ แสองว่าบริษัทนอกจากจ่ายค่าเช่าที่สูงขึ้น (ต/ท ส/ท เดิม บวก กำไรที่เพิ่มขึ้น) ต้องบวกผลตอบแทนที่จ่ายให้ผ็ถือกองทุนอีก ซึ่งน้อยกว่า เท่า หรือ มากกว่าดอกเบี้ยจ่ายก็ได้ขึ้นกับผลตอบแทนที่จะให้กับคนถือหน่วยกองทุน IF or REIT

7. เดิมค่าเสื่อมราคาของบริษัทเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสด แต่พอขาย ส/ท ออกไป ต้องจ่ายค่าเช่าที่เป็นเงินสด และมากกว่าเดิมอีก กระแสเงินสดมีแนวโน้มลดลงมากกว่าเพิ่ม ถ้าไม่เช่า ส/ท กลับเองเกือบทั้งหมด และรายได้มากขึ้นก็อาจเพิ่มขึ้นได้


ที่เขียนเพราะเห็พูดกันว่าบางสื่อสาร อนาคตว่าอาจจะไม่เพิ่มทุน แต่หาเงินทุนในการเอารายได้อนาคตไปขาย แม้จะไม่ใช่การขาย ส/ท ที่มีตัวตน (Tangeble Assets) แต่ก็ประยุกต์ได้จะได้เห็นว่า ถ้าทำแบบนี้ผลที่เกิดต่องบการเงินคืออะไร ซึ่งความจริงสามารถระดมเงินทุนได้หลายวิธี

วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559

งบการเงินเปรียบเหมือน transcript ของธุรกิจ


งบการเงินเปรียบเหมือน transcript ของธุรกิจเป็นแผนที่ เป็น resume ของกิจการ สามารถบอกและให้คนใช้งบการเงินเข้าใจถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดและจะเกิดได้ แบ่งรายงานออกเป็น 3 ด้านหลักๆ ที่สำคัญที่ต้องดูคือ

1.          งบแสดงฐานะการเงิน Financial Position – Wealth รายงานนี้บอกให้รู้ว่า ณ เวลานั้นๆ มี สินทรัพย์อยู่เท่าใด หนี้สินมีอะไรเท่าใด เป็นของเจ้าของเหลือเท่าใด งบแสดงฐานะการเงินก็เปรียบเหมือนภาพถ่ายธุรกิจเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น ณ 31 ธันวาคม 2557 เมื่อดูงบแสดงฐานะการเงิน จะแสดง ณ วันที่นั้น ก็หมายความว่าวันนั้นบริษัทมีอะไรอยู่บ้างที่เป็นทรัพยากรบริษัท โดยในรายงานจะแบ่งเป็นสินทรัพย์สองกลุ่มคือ หมุนเวียนและไม่หมุนเวียน โดยมีเกณฑ์แบ่งคือ หนุนเวียนคือทรัพยากรหรือสินทรัพย์ที่เห็นในงบแสดงฐานะการเงินสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสด หรือใช้ประโยชน์หมดใน 1 ปี การจัดเรียงลำดับก็เรียงรายการที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วที่สุดจนถึงช้าที่สุดโดยคร่าวๆ  และไม่หมุนเวียนก็คือทรัพยากรที่ใช้ในการสร้างรายได้ หรือมีไว้เพื่อที่จะเปลี่ยนเป็นเงินสดในอนาคต

งบแสดงฐานะการเงินนั้นเป็นภาพถ่าย เปรียบได้กับการกดชัตเตอร์ตอนสิ้นปีบัญชี เพื่อดูว่าตอนนี้บริษัทมีสินทรัพย์และหนี้สินอยู่เท่าไรแล้ว (และส่วนต่างจากสินทรัพย์กับหนี้สินก็คือส่วนของผู้ถือหุ้นนั่นเอง) เพราะฉะนั้นเวลาอ่านงบ ก็ดูทีละส่วนด้านสินทรัพย์มีอะไร เหมือนมองภาพถ่ายรูปคนๆหนึ่งว่าที่เห็น ณ เวลานี้มีอะไรบ้าง ปีก่อนมีอะไร มูลค่าเท่าไร ปีต่อมาของอย่างเดียวกันมูลค่าเป็นเท่าไร เมื่อวิเคราะห์ควรใช้การมองจากภาพรวม ดูว่ายอดรวมก่อนว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไร แล้วจึงค่อยมองว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมาจากอะไรเป็นตัวหลัก (เราจะมาอธิบายกันภายหลัง)

2.  งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ Comprehensive Income Statement (I/S – Successful Effort) รายงานนี้บอกให้รู้ว่างวดนี้ทำมาหาได้เท่าไร มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเท่าใด ซึ่งงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จนี้แยกเป็นสองส่วนหรือสองท่อนคือ

-        ส่วนบนหรือท่อนบน คืองบกำไรขาดทุนสำหรับงวด ส่วนนี้จะแสดงถึงการทำมาหาได้ของงวด ขายอะไร มีรายได้มาจากอะไร ต้นทุนของที่ขาย  จ่ายอะไรไปบ้าง เหลือเป็นกำไรเท่าไร มองง่ายๆ เหมือนเราเปิดร้านขายอาหาร วันนี้ขายได้เท่าไร หักเป็นค่าของที่ทำอาหารเท่าไร (ต้นทุนขาย) ค่าลูกจ้างในร้าน ค่าเช่าร้าน (ขายและบริหาร) ถ้าไปกู้เงินมาทำร้าน ก็จ่ายดอกเบี้ย (ต้นทุนการเงิน) หักแล้วเหลือเท่าไรก็คือกำไรเป็นต้น นี่คือส่วนที่หนึ่งเอาแค่ที่ทำมาหากินจริงเท่านั้น ถ้าขายโต๊ะไปในระหว่างงวด ก็ลงกำไรขาดทุนจากการขาย

-        ส่วนล่างหรือท่อนล่าง OCI (Other Comprehensive Income) ส่วนนี้ไว้แสดงการเพิ่มขึ้นในส่วนเจ้าของที่ไม่ถือเป็นกำไรของงวด ส่วนมากก็คือการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินทรัพย์ในงวดนั้นๆ ไม่ได้เกิดจากการทำมาหากินแต่อย่างใด แต่เจ้าของมั่งคั่งขึ้นเนื่องจากสินทรัพย์หรือทรัพยากรบริษัทมีราคาสูงขึ้น เช่นสมมติเหมือนเดิมว่าเราเปิดร้านขายอาหาร ปรากฏว่า ร้านของเรามีรถไฟฟ้าผ่าน ทำให้ร้านเรามีราคามากขึ้น ส่วนมูลค่าที่เพิ่มนี้เราอยากแสดงให้รู้ว่า เรามั่งคั่งขึ้น บัญชีบอกอยากแสดงก็ให้แสดงได้ แต่ไม่ให้ถือเป็นการดำเนินงาน (กำไรจากการทำมาหากิน) กำไรจากส่วนนี้ไม่นับรวมใน EPS (กำไรต่อหุ้น)

งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จหรือเรียกย่อๆว่างบกำไรขาดทุนเปรียบเหมือนการถ่ายภาพยนตร์เคลื่อนไหว งบกำไรขาดทุนจะแสดงเป็นรายการของงวด หรือช่วงเวลา เช่นระบุว่าสำหรับงวดปีสิ้นสุดเพียง 31 ธันวาคม 2557 ก็หมายถึงรายได้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ คือ การเกิดขึ้นในช่วง 1 ปี ถึง 31 ธันวาคม 2557 ก็คือ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2557 นั่นเอง ที่เปรียบเป็นภาพเคลื่อนไหวเพราะข้อมูลที่เห็นเป็นข้อมูลที่เป็นช่วงเวลา ไม่ใช่ ณ วันเดียวเหมือนงบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุนบอกให้รู้ว่าทั้งปีทำอะไร ส่วนงบแสดงฐานะบอกให้รู้ว่าวันนั้นมีอะไร

งบแสดงฐานะการเงินและงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ เปรียบเหมือนตัวเอกของเรื่อง การวิเคราะห์เบื้องต้นมักต้องใช้ทั้งสองงบนี้ควบคู่กัน จะดูงบการเงินใดเพียงงบการเงินเดียวจะไม่สมบูรณ์ การดูเพียงกำไรไม่เพียงพอ เพราะเท่ากับแค่การเก็งกำไรราคาหุ้นจากกำไรเท่านั้นแต่ไม่ใช่การลงทุนระยะยาว เพราะที่มาที่ไปของรายได้ มาจากโครงสร้างสินทรัพย์ที่มี การสร้างรายได้ที่ยั่งยืนย่อมมาจากธุรกิจมีทรัพยากรที่ดีในการสร้างรายได้ในอนาคต

3.          งบกระแสเงินสด (Statement of Cash flows) – Survival งบกระแสเงินสดบอกให้รู้ว่างวดนี้ (ตั้งแต่ต้นปี) มีเงินเข้ามาจากอะไร ขายของทำมาหากินได้มาเท่าไรในรูปเงินสด หรือได้เงินมาจากการขายสินทรัพย์ (สมบัติ) หรือมีเงินใช้เพราะกู้มาส่วนใหญ่ เงินที่ได้มาเอาไปทำอะไร ขายของเข้าเนื้อ? เอาไปซื้อสินทรัพย์ หรือเอาไปจ่ายหนี้ จ่ายปันผล เท่าไร เป็นต้น

ดังนั้นงบกระแสเงินสดจึงแบ่งการได้เงิน-ใช้เงินเป็น 3 เรื่อง คือ

1.           ทำมาหากิน (กิจกรรมดำเนินงาน- Operating Activities) การทำมาหากินเอามาจากการขายของหรือบริการ ได้ในรูปเงินสด แล้วมาใช้จ่ายในกิจการ เหลือเท่าไร แสดงเฉพาะที่เป็นเงินรับสุทธิจากการดำเนินงานหรือทำมาหากินจริงๆ ขายที่ดิน ขายตึก ขายรถไม่นับว่าเกิดจากการทำมาหากิน มองง่ายๆ เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวก็นับเงินรับจาการขายก๋วยเตี๋ยวขายเก้าอี้ ขายจานชาม ตะเกียบไม่นับในกิจกรรมนี้เป็นการดำเนินงาน กำไรขาดทุนจากการขาย เก้าอี้ จาน ชามและตะเกียบ ลงเป็นกำไรขาดทุนของงวด แต่เงินสดรับงวดนี้ แต่ไม่นับเป็นกิจกรรมดำเนินงาน มีกำไรในงวดจากการขายเก้าอี้ถูกต้องแต่ไม่ใช่การดำเนินงาน

2.           การลงทุน (กิจกรรมการลงทุน- Investing Activities) รวมถึงดอกผลจากการลงทุน ดอกเบี้ยรับ เงินปันผลรับ เงินที่จ่ายไปเพื่อลงทุนในเงินลงทุนต่างๆ ทั้งสั้นและยาว ที่ลงทุนในที่ดินอาคารและอุปกรณ์ หรือจะเอาสินทรัพย์ที่ลงทุนไว้ไปขาย จะเป็นเงินลงทุนระยะสั้นหรือยาว สินทรัพย์ในที่ดินอาคารและอุปกรณ์ไปขาย การรับหรือจ่ายจะแยกกันและไม่แยกกำไร แต่รวมในเงินสดรับทั้งหมด  จะขายกำไรหรือขาดทุนไม่แยกออกมา ส่วนกำไรหรือขาดทุนไปแสดงในงบกำไรขาดทุน หากมองการขายสินทรัพย์ออกว่าจะตีความว่าเพราะบริษัทเงินตึงตัว จึงต้องขายสมบัติ (เปิดท้ายขายของ) เพื่อเอาเงินมาใช้จ่าย

3.           จากการกู้ยืม และที่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้น (กิจกรรมการจัดหาเงิน- Financing Activities) เช่นจ่ายปันผลที่เป็นเงินสด กู้เงิน จ่ายคืนเงินกู้ ส่วนนี้บอกให้รู้ว่าได้เงินมาจากการกู้เท่าไร และคืนเท่าไรระหว่างงวด การกู้ยืมกับการคืนเงินกู้จะแยกกันไม่เอามาหักกลบกัน ทำให้เราเห็นกระแสการไหลเวียนของเงินชัดเจน บางครั้งหนี้ไม่เพิ่มขึ้น แต่งบกระแสเงินสดบอกให้รู้ว่ามีการ refinance เพราะการคืนและยืมในงวดพอๆกัน ยกเว้นเงินกู้ระยะสั้นที่ให้แสดงยอดสุทธิที่หักกลบลบกันได้ รายการเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินมักจะหมายถึงเงินกู้ O/D นั่นเอง สรุปสั้นๆ ง่ายๆ คือหาเงินมาหมุนด้วยการกู้ยืมมาใช้จ่าย หากไม่เช่นนั้นก็ต้องแบมือขอผู้ถือหุ้น (เพิ่มทุน) ส่วนการจ่ายคืนเงินปันผลก็แสดงว่าทำมาหากินแล้วมีเหลือคืนผู้ถือหุ้น

คำอธิบายรายการในงบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานบอกนัยทางธุรกิจได้


คำอธิบายรายการในงบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานบอกนัยทางธุรกิจได้
ในการอ่านงบการเงินนั้นบางครั้งหากเราดูแต่งบกำไรขาดทุนอาจจะไม่ได้พบอะไรมากนักเพราะ งบกำไรขาดทุนจะให้ภาพรวมๆมากกว่า ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่ทราบบางเรื่องราวในธุรกิจ การดูแต่ตัวเลขกำไรนั้นอาจทำให้เราประเมินทิศทางธุรกิจผิดก็ได้ ขอสรุปการบอกความหมายจากตัวอย่างหัวข้อในงบกระแสเงินสดบางรายการ (ไม่ได้อ้างอิงตัวเลขเพื่อความสะดวกในการพิมพ์ครับ)

-               ปรับปรุงกำไร (ขาดทุน) ก่อนภาษีเงินได้เป็นเงินสดรับ (จ่าย) 
ค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่าย รายการนี้จะเป็นยอดรวมของค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายทั้งหมด ทั้งส่วนที่รวมในต้นทุนการผลิต (บางส่วนกลายเป็นค่าใช่จ่ายในต้นทุนขาย) และที่เป็นค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ในกิจการที่ลงทุนใน PPE สูงมากๆ รายการบวกกลับในงบกระแสเงินสดจะสูง ทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานสูงแต่กำไรสุทธิอาจจะต่ำ บางคนอาจถามว่ามากหรือน้อยดี ขึ้นกับลักษณะธุรกิจครับ การตัดค่าเสื่อมราคาวัตถุประสงค์จริงๆในทางทฤษฎี เพื่อกันเงินสดออกจากกำไรที่เกิดขึ้นเพื่อจัดหาเงินไป reinvest สินทรัพย์ใหม่ให้สามารถผลิต ขายเพื่อคงกำไรไม่น้อยกว่าระดับเดิม ทางบัญชีเรียกว่า capital maintenance ถ้ามองแบบหยาบๆว่า อายุและวิธีสมเหตุผลดีแล้ว การมีจำนวนมากๆ ก็แสดงว่าธุรกิจรี้ต้องการเงินลงทุนสูงในอนาคต ดังนั้นระดับเงินสดที่มากจึงไม่ใช่เรื่องดีมากมายอะไร แต่เป็นเรื่องปกติที่ควรต้องมี ไม่เช่นนั้นในอนาคต อาจต้องเพิ่มทุนมากหรือก่อหนี้มากในการหาเงินเพื่อลงทุนใน PPE ซึ่งต้องดูใน CFI (กระเงินสดในกิจกรรมการลงทุน) ว่าแต่ละปี แต่ละงวด มีการลงทุนต่อเนื่องหรือไม่ ถ้าลงทุนต่อเนื่องอาจจะไม่ต้องใช้เงินคราวละมากๆ (มีการ reinvest ตลอดเวลา) ส่วนบริษัทที่ตัดน้อย บวกกลับน้อย ควรเป็นบริษัทที่มี PPE ในสัดส่วนไม่มาก จึงถือว่าเหมาะสมถ้า กลับกันกับที่อธิบายมาทั้งหมด จะถือว่าไม่ดี แสดงว่ามีการทำ creative accounting สร้างกำไรโดยใช้การตัดค่าเสื่อมราคาสร้างกลลวงทางบัญชีได้

-               ดอกเบี้ยรับ นำมาหักออกเพราะในทางบัญชีถือว่าดอกเบี้ยรับเป็นรายได้ของกิจกรรมการลงทุน ไม่ใช่การดำเนินงาน รายการนี้จะไปแสดงใหม่ในส่วนของกิจกรรมการลงทุน แต่ปรับยอดแสดงเป็นยอดเงินสดรับจากดอกเบี้ย ซึ่งแตกต่างจากยอดดอกเบี้ยรับทางบัญชี

-               ดอกเบี้ยจ่าย นำมาบวกกลับเพื่อปรับยอดรายการที่บันทึกด้วยวิธีเกณฑ์สิทธิ์หรือเกณฑ์คงค้าง (accrual basis) ซึ่งรายการนี้จะหักใหม่ด้วยการจ่ายด้วยเงินสด ซึ่งอาจหักในกิจกรรมดำเนินงานหรือกิจกรรมจัดหาเงินก็ได้ ซึ่งตามมาตรฐานให้เลือกปฏิบัติได้ ตรงนี้ก็เป็นช่องให้เกิดการเลือกปฏิบัติในการนำเสนอ มุมมองแยกเป็นสองมุมมองด้านนักบัญชีมองว่าค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเป็นเรื่องการดำเนินงาน ส่วนนักการเงินมองว่าค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเป็นต้นทุนของกิจกรรมการจัดหาเงิน ในฐานะผู้ใช้งบ (นักลงทุน) ต้องระวังเมื่อนำมาเปรียบเทียบระหว่างบริษัทเพราะอาจมีการหักรายการดอกเบี้ยเงินสดไว้คนละที่

-               หนี้สงสัยจะสูญ รายการนี้จะบวกกลับ บางครั้งบางบริษัทอาจแสดงแยกรายการในงบกำไรขาดทุน บางบริษัทอาจจะรวมในค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร จำนวนเงินบอกให้รู้ว่าระหว่างปีบริษัทตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพอหรือไม่ เราตรวจสอบเบื้องต้นจากอัตราส่วน AR Turnover หากรอบหมุนเวียนเร็ว (มากกว่า 6 แสดงว่าเฉลี่ยเก็บเงินหรือให้ credit การค้าไม่เกิน 60 วัน) ก็ตั้งเพียงพอถ้ารอบน้อยแสดงว่าตั้งสำรองไว้น้อย ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ยอดนี้ควรจะมากขึ้นได้ ในกิจการที่ขายเงินสด เช่นค้าปลีก หรือรับเงินสดอย่างโรงพยาบาล ไม่ควรมีสูงหากสูงแสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในธุรกิจ

-               ขาดทุนจากมูลค่าสินค้าลดลง รายการนี้จะแสดงบวกกลับ เช่นเดียวกับหนี้สงสัยจะสูญบางบริษัทอาจแสดงแยกรายการในงบกำไรขาดทุนหรืออาจจะรวมในค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารก็ได้ แต่ในทางหลักบัญชีที่ถูกต้องต้องรวมในต้นทุนขาย ที่กล่าวเช่นนี้เพราะบางบริษัทแสดงเป็นค่าใช้จ่ายอื่นแยกแสดงรายการจากต้นทุนขาย บอกอะไรหากแสดงไว้นอกต้นทุนขาย เพราะเมื่อหักค่าใช้จ่ายนี้ไว้นอกต้นทุนขายแสดงว่าเมื่อวิเคราะห์อัตราส่วนกำไรขั้นต้นจะสูงกว่าความจริงเพราะค่าใช้จ่ายนี้ไม่ถูกรวมอยู่ สมการต้นทุนขาย = สินค้าคงเหลือต้นงวด + (ซื้อ + ค่าใช้จ่ายการผลิตระหว่างงวด) สินค้าคงเหลือปลายงวด เมื่อสินค้าคงเหลือประกอบด้วย วัตถุดิบ งานระหว่างทำ และสินค้าสำเร็จรูป การขาดทุนจากมูลค่าสินค้าลดลงทำให้สินค้าคงเหลือปลายงวดน้อยลง นั่นคือต้นทุนขายสูงขึ้น การแสดงรายการนี้ไว้ผิดที่ก็แสดงว่าอาจกำลังพยายามบิดเบือนอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) ดังนั้นถ้าเห็นรายการนี้ปรากฏขึ้น แล้วแนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นไม่ลดลง แสดงว่ามีแนวโน้มที่จะแสดงขาดทุนจากมูลค่าสินค้าลดลงที่อื่นที่ไม่ใช่ต้นทุนขาย (กำไรขาดทุนรวมไม่ผิดแต้การวิเคราะห์อัตรากำไรขั้นต้นผิดทำให้วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจผิดได้) และเมื่อตีมูลค่าลงในงวดใดแล้ว งวดถัดไปจะกลับรายการเสมอ หากการกลับรายการเท่าที่ลงขาดทุน แสดงว่าแนวโน้มราคาสินค้าหยุดลดลง แต่ถ้ากลับรายการน้อยลง แปลว่าราคาสินค้ายังลงต่อแล่ช้าลง หรือถ้าลบหรือขาดทุน แสดงว่าลดลงมากกว่าเดิม

-               ขาดทุน(กำไร)จากการจำหน่ายสินทรัพย์ถาวร ขาดทุนจะบวกกลับ ถ้ากำไรจะนำมาลบออก แสดงว่าในระหว่างงวดบริษัทมีการขายสินทรัพย์ออก ถ้าจำนวนไม่มากก็เป็นการขายเศษซากสินทรัพย์เท่านั้นไม่มีสาระใดๆ แต่ถ้าจำนวนมากๆ (กำไร) แสดงว่าจะมีการสร้างรายการ one-time gain เพื่อแสดงกำไรรวมให้ดูสูง หากเราเอากำไรนี้ออก (โดยปรับอัตราภาษีออก เช่น กำไรจากการขายสินทรัพย์ 250 ลบ. เอากำไรนี้ออกจากกำไรสุทธิ ต้องลบด้วย 250*(1-t) = 250*(1-0.2) = 200)

-               ขาดทุนจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ถาวร เป็นรายการบวกกลับ แต่บอกให้รู้ว่ามีสินทรัพย์ที่เลิกใช้งานเท่าไร และมีการเอารายการนี้ออดจากงบแสดงฐานะการเงิน ในภาวะปกติจะมีจำนวนน้อยเพราะสินทรัพย์ที่ตัดออกนี้มักจะตัดค่าเสื่อมจนหมดแล้ว (มักมีราคาซากน้อยมาก เช่น 1 บาท) แต่หากมีจำนวนมากแสดงว่ามีสินทรัพย์ที่เป็น non-performing assets อยู่จำนวนหนึ่งซึ่งอาจหมายความว่าเกิดความล้าสมัยในเทคโนโลยีการผลิต หรืออาจเกิดเพราะกิจการมีการเปลี่ยนรูปแบบการผลิต หรือยกเลิกการผลิตในสายผลิตภัณฑ์นั้นและเครื่องจักรไม่สามารถนำไปใช้ในการผลิตได้อีก เราอาจต้องดูเชิงลึกถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ กลยุทธ์การตลาด vision เป็นต้น

-               ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ เป็นรายการบวกกลับ รายการด้อยค่าจะเกิดขึ้นเมื่อมูลค่าที่จะได้รับจากสินทรัพย์ (ราคาขายสุทธิหรือมูลค่าจากการใช้ที่หามาจากมูลค่ากระแสเงินสดรับสุทธิที่เกิดจากการใช้สินทรัพย์นั้นในการผลิตขายแล้วแต่ค่าใดสูงกว่า) เทียบกับราคาตามบัญชีสุทธิขณะนั้น หากมูลค่าที่จะได้รับจากสินทรัพย์ น้อยกว่าก็จะเกิดการด้อยค่าสินทรัพย์ การด้อยค่านี้บอกนัยได้หลายอย่างคือ
-ในภาวะปกติ บ่งบอกว่าที่ผ่านมาบริษัทตัดค่าเสื่อมราคาน้อยเกินไป (อดีตแสดงกำไรสูงไป)
-ในภาวะเศรษฐกิจขาลง บอกว่ารายได้บริษัท(จากการขาย) กำลังลดลงในระยะยาว และมูลค่าสินทรัพย์นั้นๆก็กำลังลดมูลค่าลงมาก

-               ขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อย/ร่วม เป็นรายการบวกกลับเช่นกัน แต่บอกให้รู้ว่าในบริษัทที่กิจการเข้าไปถือหุ้นอยู่นั้น เริ่มหรือเป็นกิจการในช่วง sunset หรือที่เข้าไปลงทุนนั้นซื้อมาในราคาแพงเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับกำไร(หรือกระแสเงินสด Free cash flow) ธุรกิจลูกเริ่มไม่สดใส หากมูลค่าบริษัทถูกประเมินเพราะคาดว่าการซื้อธุรกิจทำให้เกิด synergy อาจต้องทบทวนใหม่

-               ดังนั้นสำหรับคนเริ่มต้นลงทุน การดูกระแสเงินสดให้อ่านเร็วๆในเบื้องต้นว่า CFO (ดำเนินงาน) CFI (ลงทุน) CFF (จัดหาเงิน) มีลักษณะใด ดูเครื่องหมายก่อน แบบเร็วๆ เบื้องต้นดังนี้

·      CFO+     CFI -    CFF -    --- > good ดีที่สุด ทำมาหากินพอทั้งลงทุน จ่ายหนี้ จ่ายปันผล

·      CFO+     CFI -    CFF+   --- > ดูสัดส่วนเงิน CFO: CFF เอาเงินจากไหนเท่าไรไปลงทุน

·      CFO+     CFI+    CFF -   --- > ขายสินทรัพย์เพิ่มเพื่อใช้หนี้ หากินไม่พอจ่าย

·      CFO-     CFF -    CFF +  --- > กู้ เพิ่มทุน เพื่อลงทุนแต่กำไรลวงหรือติดลบ จ่ายปันผลก็ไม่พอต้องกู้

·      CFO-      CFI+    CFF -   --- > ขายสินทรัพย์เพื่อใช้หนี้และใช้หมุนเวียน ทำมาหากินก็ติดลบ

·      CFO-      CFI+    CFF+    --- > ขาย ส/ท ไม่พอ ยังต้องกู้/เพิ่มทุน

·      CFO  CFI   CFF เป็นลบหมดหรือบวกหมดไม่มี หรือไม่สมเหตุสมผล ลบหมด หากินก็ไม่มีเงิน ยังลงทุน และจ่ายหนี้หรือจ่ายปันผล รอดไหมคิดดู บวกหมดนี่ก็แปลกหากินก็เหลือเงิน ยังขายสินทรัพย์อีก กู้หรือเพิ่มทุนอีก เงินท่วมบริษัท มีเงินก็ไม่ลงทุน กู้มาก็ไม่ลงทุน หรือเพิ่มทุนก็ไม่ลงทุน เกิดได้ หากเป็นช่วงเดือนสุดท้ายของปีแล้วทำทุกอย่างปลายปี ระหว่างปีเลยไม่ได้ใช้เงินเลย

-               CFO ควรมากกว่าเงินปันผลจ่าย

-               CFI ที่ดีต้องเป็นการซื้อที่ดินอาคารอุปกรณ์ (PPE) เป็นส่วนใหญ่ และมากกว่าค่าเสื่อมราคา

-               รายการปรับปรุงกำไรใน CFO บอกรายการ one time gain/loss ได้ดีและบอกให้รู้ว่ากำไรที่เห็นในกำไรขาดทุนเป็นรายการที่ไม่ใช่ดำเนินงานเท่าไร