วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2559

การจ่ายหุ้นปันผล

การจ่ายหุ้นปันผล คล้ายๆกับ การซื้อหุ้นคืนคือแทนที่จะเอาเงินจ่ายปันผล ก็จ่ายเป็นหุ้นแทน ส่วนใหญ่บริษัทมีกำไรมากและอยากเก็บเงินสดไว้ใช้ดำเนินงาน ก็จ่ายเป็นหุ้นแทน ให้ผู้ถือหุ้นไปเอาเงินสดจากตลาดแทน หรือใครจะถือต่อก็ได้ การจ่ายหุ้นปันผลไม่กระทบกับส่วนเจ้าของ เพราะย้ายกำไรสะสมขึ้นไปเป็นเป็นหุ้นทุน แต่ผลกระทบคือ เม็ดหุ้นมากขึ้น อาจเกิด dilution effect ได้ แม้จะทำกำไรเท่าเดิม ROE เท่าเดิม แต่โดยรวมๆ wealth ของนักลงทุนคงที่ที่ระดับ P/E นั้น เพราะ EPS ลดลง Price ลดลง แต่จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นชดเชยแทน
จะเห็นว่าแค่ทุน ยังมีวิธีการมากมายในการบริหาร ทุกการกระทำล้วนต้องมีหลักการและเหตุผลที่ดี หลายบริษัท เดี๋ยวซื้อหุ้นคืนกลับ นัยหนึ่งที่ควรพิจารณาคือ การซื้อคืน แสดงว่า เหลือเงิน ไม่มี project ใหม่ขยายออกไปแล้ว หรือโครงการใหม่ๆ มีผลตอบแทนน้อยกว่า existing project เพราะถ้ามีทำไมไม่ลงทุนให้เราเพื่อเพิ่มกำไร ทางทฤษฎีการเงิน แสดงว่ากิจการเข้าสู่วงจรชะลอตัวถึงถดถอย คล้ายๆ กับบริษัทที่จ่ายอัตราปันผลมากๆ 60-70% หรือ อาจเกือบ 100% แสดงว่าการเอาเงินไป reinvest หรือไม่มีโครงการที่สร้างผลกำไรเพิ่มได้ การซื้อหุ้นคืนกลับย่อมไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะด้านหนึ่ง กิจการแต่ง ROE ด้วย

ส่วนการจ่ายหุ้นปันผล มี 2 นัย คือ กิจการไม่มีเงินสดมากพอ ก่อหนี้ก็ไม่ไหว ในมุมหนึ่งคือมีเงินแต่กิจการเห็นโอกาสลงทุนในโครงการใหม่ว่าให้ประโยชน์มากกว่า (ROCI) หากเป็นเช่นนั้นไม่จ่ายปันผลเลยก็ได้ เพราะการจ่ายหุ้นปันผลทำให้ EPS เกิด dilute ถ้ากำไรไม่มากพอกับหุ้นที่เพิ่มจะทำให้ราคาหุ้นลดลง

ว่าด้วยเรื่องการซื้อหุ้นคืน ตอนที่ 3

ว่าด้วยเรื่องการซื้อหุ้นคืน ตอนที่ 3
ทางบัญชี เมื่อซื้อหุ้นคืน จะบันทึกดังนี้
เดบิต หุ้นทุนซื้อคืน
เครดิต เงินสด
หลังจากซื้อคืน รายการดังกล่าวจะแสงในงบแสดงฐานะการเงินเป็นรายการหักต่อจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ดังนี้
ทุนออกจำหน่ายและชำระเต็มมูลค่าแล้ว
ส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นสามัญ
กำไรสะสม
องค์ประกอบอื่นของส่วนของผู้ถือหุ้น
ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ
หัก: หุ้นทุนซื้อคืน
ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ - สุทธิ
ส่วนของผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมของบริษัทย่อย
รวมส่วนของผู้ถือหุ้น
วิธีการทางบัญชีเกี่ยวกับ หุ้นทุนซื้อคืนมี 2 วิธี วิธีราคาทุน และวิธีราคาตามมูลค่า 
วิธีราคาตามมูลค่า  การรับหุ้นทุนคืนมา โดยบันทึกบัญชีตามวิธีราคาตามมูลค่า เสมือนเป็นการยกเลิกส่วนหนึ่งของหุ้นทุนที่บริษัทได้ออกจำหน่ายและออกใบหุ้นทุนแล้ว ซึ่งการรับหุ้นทุนของบริษัทกลับคืนมา  เสมือนถอนตัวผู้ถือหุ้นออกจากบริษัทอันเป็นผลให้เงินทุนตามกฎหมายของบริษัทลดลงด้วย  
การบันทึกบัญชี สามารถแบ่งตามราคาที่ซื้อได้ดังนี้
1 ซื้อหุ้นทุนคืนในราคามูลค่าที่ออก การบันทึกบัญชีจะเป็นดังนี้
เดบิต__หุ้นทุนซื้อคืน____________________ XXX
______ส่วนเกินมูลค่าหุ้นทุน(ตอนออกจำหน่าย) _XXX
__________________เครดิต   เงินสด________________XXX
ซื้อหุ้นทุนคืนในราคามูลค่าที่จำหน่าย  สมมติตอน IPO 25 (par10) ซื้อคืน 25

2  ซื้อหุ้นคืนราคาสูงกว่ามูลค่า
เดบิต  หุ้นทุนซื้อคืน______________________XXX
______ส่วนเกินมูลค่าหุ้นทุน(ตอนออกจำหน่าย) XXX
______กำไรสะสม_______________________XXX
_________________เครดิต   เงินสด___________________XXX
ซื้อหุ้นทุนคืนในราคาสูงกว่ามูลค่า ส่วนที่เกินตัดกำไรสะสมออก สมมติตอน IPO 25 (par10) ซื้อคืน 30 ส่วนเกิ5 ตัดกำไรสะสม

3  ซื้อหุ้นทุนคืนราคาต่ำกว่ามูลค่า
เดบิต หุ้นทุนซื้อคืน__________________________XXX
_____ส่วนเกินมูลค่าหุ้นทุน (ถ้ามีตอนออกจำหน่าย)   XXX
_________________เครดิต   เงินสด___________________XXX
_________________ส่วนเกินทุนจากการซื้อหุ้นคืน _______XXX
ซื้อหุ้นทุนคืนในราคาต่ำกว่ามูลค่าสมมติตอน IPO 25 (par10) ซื้อคืน 20 ส่วนต่ำลงส่วนเกินทุนจากการซื้อหุ้นคืน 5

การจำหน่ายหุ้นทุนได้รับคืน
การบันทึกบัญชีตามวิธีราคามูลค่าซึ่งสามารถที่จะจำหน่ายได้  3 ราคา คือ
1 จำหน่ายหุ้นทุนได้รับคืนตามราคามูลค่า
2 จำหน่ายหุ้นทุนได้รับคืนราคาสูงกว่ามูลค่า
3 จำหน่ายหุ้นทุนได้รับคืนราคาต่ำกว่ามูลค่า
เดบิต   เงินสด___________________________XXX
_____ส่วนเกินทุนจากการซื้อหุ้นคืน (ถ้ามี) ____XXX --- > ต้องล้างทิ้งก่อนเสมอ
_____กำไรสะสม________________________XXX
______________ เครดิต   หุ้นทุนซื้อคืน____________________XXX
_____________________ส่วนเกินมูลค่าหุ้นทุน _____________ XXX
จำหน่ายหุ้นทุนได้รับคืน ถ้าขายเท่าที่ซื้อ ก็เดบิตเงินสด =เครดิตหุ้นทุนซื้อคืน ถ้ามากกว่าก็ลงเพิ่มในส่วนเกินทุนแต่ต้องล้างส่วนเกินทุนจากการซื้อหุ้นคืนก่อนถ้ามี ไม่พอก็หักกำไรสะสม

 วิธีราคาทุน นิยมที่สุด
เดบิต  หุ้นทุนซื้อคืน_____________XXX
_____________เครดิต   เงินสด_____________XXX
ซื้อหุ้นทุนคืน
 
การจำหน่ายหุ้นทุนได้รับคืน   หากใช้วิธีราคาทุนบันทึก    
เดบิต   เงินสด_________________________________XXX
_____ส่วนเกินมูลค่าหุ้นทุน______________________ XXX
_____กำไรสะสม______________________________XXX
_________________เครดิต หุ้นทุนซื้อคืน_____________________________XXX
_______________________ส่วนเกินทุนจากการจำหน่ายหุ้นทุนได้รับคืน____XXX

จำหน่ายหุ้นทุนซื้อคืนหากขายคืนตลาดเท่าที่ซื้อ  = หุ้นทุนซื้อคืน
ถ้าขายเกินกว่าที่ซื้อ ก็ลงที่เกินเป็นส่วนเกินทุนจากการจำหน่ายหุ้นทุนได้รับคืน
ถ้าขายต่ำกว่าที่ซื้อ ก็ลดส่วนเกินมูลค่าหุ้นทุนก่อน หากไม่พอก็ลดกำไรสะสม

ว่าด้วยเรื่องการซื้อหุ้นคืน ตอนที่ 2

ว่าด้วยเรื่องการซื้อหุ้นคืน ตอนที่ 2
บริษัทที่ทำการซื้อหุ้นคืนควรมีกำไรสะสมและสภาพคล่องทางการเงินสูง ผลของการซื้อหุ้นคืน ทำให้จำนวนหุ้นลดลง และ EPS เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ในด้านบัญชีวิเคราะห์จากสมการบัญชีดังนี้ (กปป. = การเปลี่ยนแปลง)
กปป.สินทรัพย์  = กปป. หนี้สิน +  กปป ทุน
การซื้อหุ้นคืน เงินสดลดลง และส่วนทุนลดลง เท่าๆกันเช่น บริษัทมีสินทรัพย์ หนี้สิน และทุน ดังนี้
1,000        =      500   +  500
ซื้อหุ้นคืน 200 ลบ (งบการเงินจะแสดงหุ้นซื้อคืนเป็นลบในส่วนของผ้ถือหุ้น)
1,000 -200  =  500 + (500-200)
800  =  500 + 300
จะเห็นว่าส่วนของเจ้าของลดลง ถ้ากำไรเท่าเดิม ROE จะเพิ่มขึ้น EPS ก็จะเพิ่มขึ้นจากจำนวนหุ้นที่ลดลง

ในด้านตลาดทุนเหมือนดี เพราะ Investors ดูจะได้ประโยชน์ แต่ลองมาดูในด้านอื่นๆ และ Corporate financial management อีกมุมหนึ่งของตลาดทุนต้องพิจารณาว่าผู้บริหารกำลังส่งสัญญาณว่า
1.          ราคาหุ้นถูกเกินไป หรือ ราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน
2.          ไม่มีโครงการใหม่ที่ลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนสูงกว่าต้นทุนเงินทุนของบริษัท บริษัทจึงเอาเงินไปลงทุนในหุ้นตนเองแทน เพราะการลงทุนซื้อหุ้นตนเองได้ผลตอบแทนเท่ากับ ROE ปกติกิจการจะลงทุนเมื่อผลตอบแทนโครงการ IRR > WACC เพราะการลงทุนในโครงการที่ได้ผลตอบแทน > WACC จะทำให้เพิ่มมูลค่ากิจการ (Maximize shareholders’ value) ทางเลือกที่ถูกต้องคือเอาเงินไปลงในโคงการที่ได้ผลตอบแทน > WACC หากกิจการเอาเงินมาซื้อหุ้นตัวเองแสดงว่า ไม่มีโครงการลงทุนใหม่ที่น่าสนใจและให้ผลตอบแทนดีกว่าเดิม
3.          และจากสมการบัญชีพบว่าการซื้อหุ้นคืนทำให้กิจการลดขนาดลง นั่นคือกำลังจะ down sizing ตนเองลงอุตสาหกรรมกำลังชะลอตัวหรือหดตัวลงใช่หรือไม่
4.          การซื้อหุ้นคืนทำให้ ROE สูงขึ้นก็จริง แต่ D/E ก็สูงขึ้นด้วย ค่า D/E ที่เพิ่มขึ้นหมายถึง ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หมายความว่า ต้นทุนเงินทุนเพิ่มขึ้น และทำให้ expected return ของหุ้นทุนสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของ ROE ไม่ได้สะท้อนว่าราคาหุ้นต้องขึ้น เพราะเมื่อต้นทุน Cost of Capital เพิ่ม Expected Return หรือ Discount rate ใน DCF Model สูงขึ้น มูลค่ารวมจะลดลง เพียงแต่จำนวนหุ้นลดลงมากกว่า ทำให้เมื่อหารให้เป็นราคาต่อหุ้นดูสูงขึ้นดังนั้นในทางทฤษฎีแล้ว การซื้อหุ้นคืนจึงไม่ใช่การ  Maximize shareholders’ value แต่เพียงผลทางจิตวิทยาตลาดทุนที่ทำให้หุ้นขึ้นเท่านั้นแต่ไม่เกิด value addedโดยรวมในด้าน corporate financial management
5.          บริษัททำด้วยเหตุผลที่อยากจะให้ราคาหุ้นของตนเองเพิ่มขึ้น เพราะคิดว่าแรงซื้อจากบริษัทจะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น พูดง่ายๆ คือปั่นหุ้นตนเอง

ว่าด้วยเรื่องการซื้อหุ้นคืน ตอนที่ 1


ว่าด้วยเรื่องการซื้อหุ้นคืน ตอนที่ 1

การซื้อหุ้นคืน Treasury stock เป็นการสร้างผลตอบแทนให้กิจการแบบหนึ่งแทนที่จะเอาเงินจ่ายปันผล ก็เอามาซื้อหุ้นออกมาจากตลาดเข้าบริษัท วิธีนี้ไม่ใช่การลดทุน เพราะผู้ถือหุ้นไม่เสียหาย เพียงแต่บริษัทเอาหุ้นบางส่วนคืนจากนักลงทุนที่ไม่อยากลงทุนในบริษัทต่อไป แทนที่จะขายทิ้ง (กดราคา) บริษัทรับซื้อกลับ ทำให้จำนวนหุ้นลดลง EPS จะสูงขึ้น (ถ้ากำไรไม่ลดลง) ถ้าระดับ P/E คงเดิม ราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้น นักลงทุนก็เปลี่ยนจากหุ้นบางส่วนเป็นเงินได้ (วิธีนี้ช่วยบริหารภาษีให้ผู้ถือหุ้นด้วย) การซื้อหุ้นคืน ส่วนเจ้าของจะลดลงจากหุ้นซื้อคืน ROE จะเพิ่มขึ้น

การที่บริษัทซื้อหุ้นคืนนั้น มองในภาพใหญ่ก็คือ หุ้นที่เหลืออยู่จะมีจำนวนน้อยลง ดังนั้นส่วนแบ่งกำไรของผู้ถือหุ้นแต่ละหุ้นก็จะมากขึ้น ซึ่งราคาหุ้นก็จะสูงขึ้นได้ ผู้ถือหุ้นอยู่ก็จะได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคา มองอีกด้านหนึ่ง การซื้อหุ้นคืนนั้น อาจจะเหมือนกับว่าผู้ถือหุ้นบริษัทเห็นว่าหุ้นของบริษัทมีราคาถูกมากอยากจะซื้อหุ้นเพิ่มแต่ไม่มีเงินแล้วหรือคิดว่าไม่อยากจะเสี่ยงเพิ่มอีก แต่ว่าตัวบริษัทเองนั้นมีเงินอยู่ ผู้ถือหุ้นในฐานะที่เป็นเจ้าของบริษัทจึงคิดว่าเราน่าจะใช้เงินบริษัทเข้าไปซื้อหุ้นแทน และถ้าผู้บริหารบริษัทเองก็เห็นพ้องต้องกันว่าหุ้นของบริษัทนั้นมีราคาถูกเกินไปจริง ๆ เมื่อเทียบกับพื้นฐานของบริษัท การซื้อหุ้นบริษัทคืนก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีและความเสี่ยงน่าจะมีจำกัด และนี่ก็คือที่มาของการที่บริษัทจะซื้อหุ้นของตนเองคืนจากตลาดหุ้น

โดยการซื้อหุ้นคืนใน "บางครั้ง" จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ถือหุ้นบริษัทเห็นว่าหุ้นของบริษัทมีราคาถูกมาก หรือต่ำกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็นเลยอยากจะซื้อหุ้นเพิ่มแต่ไม่มีเงินแล้วหรือไม่อยากจะเสี่ยงเพิ่มอีก แต่ว่าตัวบริษัทเองนั้นมีเงินอยู่ ผู้ถือหุ้นในฐานะที่เป็นเจ้าของบริษัทจึงคิดว่าน่าจะใช้เงินบริษัทเข้าไปซื้อหุ้นแทน ในการประชุมผู้ถือหุ้นจึงมีมติให้มีการซื้อหุ้นคืน

มารู้จักสินทรัพย์ให้มากกว่าที่รู้


ความรู้ทางการเงิน การลงทุน และการบัญชี (05/03/59)

มารู้จักสินทรัพย์ให้มากกว่าที่รู้

สินทรัพย์ในทางบัญชี มีนิยามที่ต้องเข้า 3 องค์ประกอบคือ

1.          เป็นทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการ ทรัพยากรดังกล่าวกิจการสามารถนำไปใช้ในกิจการหรือก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต

2.          เกิดจากเหตุการณ์ในอดีต หรือกล่าวง่ายๆ คือ สินทรัพย์ที่อยู่ในงบแสดงฐานะการเงินจะต้องมีที่มาที่ไป นั่นคือมีกิจกรรมที่มีผลทำให้ได้ซึ่งสินทรัพย์นั้น

3.          ต้องมีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต หมายความว่าสิ่งที่แสดงเป็นสินทรัพย์ ว่ามีมูลค่าเท่านั้นเท่านี้ จะต้องมีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจหรือกระแสเงินสดสุทธิ  (ค่าปัจจุบัน) เข้าไม่น้อยกว่ามูลค่าที่อยู่ในงบแสดงฐานะการเงิน ดังนั้น ถ้ารายการสินทรัพย์ใดที่ไม่มีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจหรือมีแต่มูลค่าที่จะได้รับในอนาคตต่ำกว่ามูลค่าที่แสดงในงบดุล สินทรัพย์นั้นควรจำหน่ายออกหรือลดมูลค่าลงให้แสดงไม่เกินกว่ามูลค่าที่คาดว่าจะได้รับ



และประกอบด้วย 2 เงื่อนไขการรับรู้สินทรัพย์  คือ

 (1) เมื่อมีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่ประโยชน์เศรษฐกิจในอนาคต จะเข้าสู่กิจการและ

 (2) สินทรัพย์นั้นมีราคาทุนหรือมูลค่าที่วัดได้อย่างน่าเชื่อถือ

นั่นคือที่กล่าวในนิยามตามแม่บทการบัญชี

สรุปสั้นๆ สินทรัพย์คือทรัพยากรที่มีไว้ใช้ดำเนินงานหรือเกิดจากการดำเนินงาน เช่น เงินสด สินค้าคงเหลือ ที่ดินอาคารและอุปกรณ์ เงินลงทุน พวกนี้จัดหามีไว้เพื่อหารายได้ เพื่อดำเนินธุรกิจ ส่วนลูกหนี้การค้า ค่าใช่จ่ายจ่ายล่วงหน้า รายได้ค้างรับ ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย เงินมัดจำ รายการเหล่านี้เกิดเพราะการดำเนินธุรกิจ เกิดเพราะขายสินค้า เกิดเพราะไปซื้อวัตถุดิบ



ในอีกแง่มุมหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่ไม่ใช่นักบัญชี และเชื่อว่าส่วนใหญ่นักลงทุนมักมองแบบนักบัญชี แต่ไม่ได้มองในมุมของผู้ใช้ทางการเงินและนักลงทุนคือ

1.          สินทรัพย์คือ Uses fo Funds ให้นักลงทุนตระหนักเสมอว่าสินทรัพย์ที่ได้มาเกิดจากการจัดหามาด้วยทุนเสมอทุกรายการ ดังนั้นสินทรัพย์ทุกบาทในงบมีต้นทุนทุกรายการ แต่เราไม่ต้องไปหาลึกว่ารายการไหนมีต้นทุนเท่าไร ให้รู้ไว้อย่างเดียวว่าต้นทุนการจัดหาสินทรัพย์ทุกรายการที่อยู่ในงบแสดงฐานะการเงิน (งบดุล) คือ WACC (Weighted Adverage Cost of Capital) ต้นทุนถัวเฉลี่ยของเงินทุน

2.          เงินทุนของกิจการมาจาก 4 แหล่ง คือจากภายในและภายนอก ภายในคือกำไรสะสม กำไรจากการดำเนินงานในแต่ละปี ส่วนที่ไม่จ่ายปันผลกลับไปคือทุนอันหนึ่ง ดังนั้นที่เก็บกำไรไว้ไม่จ่ายออก (1-Payout) บริษัทต้องสร้างผลตอบแทนมากกว่าที่นักลงทุนคาดหวัง ดังที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ กล่าวไว้ว่าหากกิจการเก็บกำไรไว้และสร้างกำไรมากกว่าผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นได้รับไปลงทุนเอง ควรเอาเงินกำไรมาลงทุนต่อ นี่คือเหตุผลที่เบิร์กไชไม่จ่ายปันผล ดังนั้นต้นทุนของกำไรสะสมคือ required rate of return ผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการ ซึ่งวัดหรือดูได้จากค่า ROE ว่าสูงพอไหมถ้าทำได้น้อยก็หมายถึงเก็บกำไรไว้แล้วไม่คุ้ม

3.          แหล่งเงินทุนภายนอก มี 3 แหล่งคือ  1. จากการได้สินเชื่อการค้า เช่นซื้อสินค้าแล้วได้เครดิต ค้างจ่ายค่าใช้จ่ายไปสักระยะหนึ่งเดือนเป็นต้น ต้นทุนจากแหล่งนี้ไม่มี แต่มีจำกัด และบังคับต้องจ่ายในระยะเวลากำหนด   2. จากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ต้นทุนคือต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย สัญญาเช่าซื้อก็จัดไว้ในกลุ่มนี้ อะไรก็ตามที่มีดอกเบี้ยจ่าย อยู่ในกลุ่มนี้  3. ทุนจากผู้ถือหุ้น หรือการเพิ่มทุน ทุนก้อนนี้มีต้นทุนเช่นเดียวกับกำไรสะสมคือ required rate of return ผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการ

4.          ดังนั้นสิ่งแรกในมุมของสินทรัพย์คือ ตัวมันมีต้นทุนเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปอะไรก็ตาม ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย ค่าใช้จ่ายจายล่วงหน้า รายได้ค้างรับ ที่ดินอาคารและอุปกรณ์ เงินลงทุน สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี ค่านิยม แม้แต่เงินสด ทุกรายการล้วนมีต้นทุน เพราะได้มาจากแหล่งเงินทุนที่กล่าวมา เพียงแต่เราไม่ทราบว่าเอาจากไหนเมื่อไร บางคนบอกว่าซื้อสินค้าจากเจ้าหนี้แสดงว่าไม่มีต้นทุน ดูเหมือนใช่แต่ตอนจ่ายหนี้ค่าสินค้าเราเอาอะไรจ่าย เงินกู้ระยะสั้น หรือเงินจากการขายสินค้าใช่ไหม เงินสองรายการนี้ก็มีต้นทุน จึงสรุปไม่ถูกต้องถ้าจะบอกว่าสินค้าไม่มีต้นทุน

5.          ดังนั้นสินทรัพย์ให้ตระหนักเสมอว่า มองรวมๆ เฉลี่ยคือ WACC (Weighted Adverage Cost of Capital) ต้นทุนถัวเฉลี่ยของเงินทุน

6.          สินทรัพย์ (Assets) ที่เห็นในงบการเงิน มี 3 สถานะคือ 1. เปลี่ยนเป็นเงินสดตามมูลค่าที่แสดงในวันที่วัดมูลค่าในงบการเงิน เช่น ลูกหนี้การค้า เงินสด เงินลงทุนชั่วคราว (ระยะสั้น)  2. ถือไว้เพื่อสร้างรายได้ในอนาคต เช่น สินค้าคงเหลือมีไว้เพื่อขาย เพื่อผลิตสินค้าไว้ขาย ที่ดิน อาคารโรงงาน เครื่องจักร มีไว้เพื่อผลิตสินค้าขาย  3. สินทรัพย์ที่มีที่ได้มาเพราะจ่ายเงินไปเพื่อทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจได้ เช่น ค่าเช่าจ่ายล่วงหน้า จ่ายเงินไปแล้วทำให้มีอาคารไว้ดำเนินธุรกิจ ค่าเบี้ยประกันภัยจ่ายล่วงหน้า จ่ายไปเพื่อขับรถส่งสินค้าได้ (จ่าย พรบ. ประกันภัยประเภท 3) เป็นต้น

7.          สินทรัพย์ทั้ง 3 แบบตามข้างต้น ถ้าเปลี่ยนเป็นเงินสดโดยตรง เช่น ลูกหนี้การค้า ก็เก็บเงินสดเข้ามา สภาพการเป็นลูกหนี้ก็หมดไปกลายเป็นเงินสด รายการที่เปลี่ยนเงินสดมาโดยตรงจะไม่เป็นค่าใช้จ่าย

8.          สินทรัพย์ที่หมดประโยชน์หมดสภาพไป ไม่ว่าจะด้วยกาลเวลา การเสื่อมค่า จะเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนเสมอ จึงกล่าวได้ว่าค่าใช้จ่าย (Expense) คือ Expired Asset

9.          ลูกหนี้ส่วนที่เก็บเงินไม่ได้หรือคาดว่าจะเก็บเงินไม่ได้ ก็คือค่าใช้จ่าย เรียกหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ โรงงาน อาคารเครื่องจักร ใช้งานไปความสามารถในการรใช้ประโยชน์ ใช้งานก็จะหมดไปตามกาลเวลา หมดประโยชน์ตามการใช้งาน ก็ตั้งค่าเสื่อมตัดเป็นค่าใช้จ่ายไป

10.     ดังนั้นวันนี้มีสินทรัพย์อะไรในงบแสดงฐานะการเงิน ถ้าไม่เปลี่ยนเป็นเงินสดกลับมาโดยตรง รายการนั้นจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายในอนาคต ซึ่งอาจทยอยออกไปหรือทีเดียวทั้งจำนวนก็ได้ขึ้นกับว่ายังก่อให้เกิดประโยช์ไปได้เท่าไร

11.     สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัด อนาคตก็จะกลายเป็นค่าใช้จ่ายเมื่อความแตกต่างทางเกณฑ์บัญชีและเกณฑ์สรรพกรหมดไป

12.     ที่ดิน ไม่คิดค่าเสื่อม แต่อาจกลายเป็นค่าใช้จ่าย (บางส่วน) ได้ ถ้าราคาที่ดินลดลงจนเกิดการด้อยค่า มูลค่าลดลงไป ก็จะกลายเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนที่ลดไป (ขาดทุนจากมูลค่าที่ลดลง หรือการด้อยค่าของสินทรัพย์)

13.     ค่านิยมก็เช่นกัน เหมือนที่ดิน ไม่ตัดค่าตัดจำหน่ายแต่ด้อยค่าได้

14.     ดังนั้นผู้บริหารมีหน้าที่ต้องทำให้สินทรัพย์ที่กิจการมีอยู่ก่อให้เกิดรายได้มากที่สุด แน่นอนไม่สามารถนำทุกรายการมาหารายได้ แต่ต้องทำให้ตัวที่สร้างรายได้สามารถสร้างให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะสินทรัพย์ทุกรายการมีต้นทุน และบางรายการถูกตัดจำหน่ายเป็นค่าใช้จ่ายในงวด

15.     ยิ่งมีสินทรัพย์มากในด้านหนึ่งคือ ยิ่งต้องสร้างรายได้ให้มาก เพราะมีทั้งต้นทุนการถือครองสินทรัพย์ และสินทรัพย์กลายเป็นค่าใช้จ่าย สินทรัพย์ยิ่งมากค่าใช้จ่ายยิ่งสูงตามมา

16.     นั่นคือที่มาว่าเหตุใดเวลาเรียนกับผมจึงย้ำเสมอว่า ต้องพิจราณา AT (Asset Turnover) ROA (Return on Asset) อัตราส่วน Turnover ทั้งหลาย มากกว่าดูเพียงแต่อัตรากำไรต่างๆ เพียงอย่างเดียว

17.     การมองสินทัพย์จึงควรพิจารณาด้านแหล่งสร้างรายได้ในอนาคตอันใกล้ที่เกิดแน่ๆ โรงงานยังไม่มี งวดหน้ารายได้ก็ไม่เกิด บริษัทจะมีแผนก็ถือว่าดี แต่ถ้ายังไม่สร้างก็อย่าจินตนาการไตรมาสหน้ากำไรโตมากมาย โรงงานไม่ได้ทำสามเดือนเสร็จ ซื้อเครื่องจักรเพิ่มยังพอไหว ต้องดูความเป็นจริงเสมอ

18.     วันนี้เอาเพียงด้านสินทรัพย์ อย่างเดียวก่อน จะเขียนด้านหนี้สินและส่วนทุนตามมาภายหลัง