วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2560

อัตราผลตอบแทน หรือดอกเบี้ยที่ต้องการ มีองค์ประกอบจากอะไรบ้าง


อัตราผลตอบแทน หรือดอกเบี้ยที่ต้องการ มีองค์ประกอบจากอะไรบ้าง

หลักการเงินนั้น High Risk, High Return เสมอ ไม่มีหลักทรัพย์ใดในระยะยาว (ยาวจริง มากกว่า 5-10 ปี) ไม่ใช่ 3 เดือน 6 เดือน ที่สามารถเกิด Excess Return ได้ตลอดไป คำว่า Excess Return หรือ Abnormal Return คือกำไรที่มากกว่า Expected Return On the Same Risk ทุกอุตสาหกรรม ทุกธุรกิจมีความเสี่ยงต่างกัน ผลตอบแทนที่คาดหวังจึงต้องต่างกันจะบอกว่าลงทุนใน A ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ 20% ต่อปีอย่างมั่นคงตลอด 15 ปี คนที่ถือหุ้น B มีความเสี่ยงต่ำกว่าได้เพียง 15% คงขาย B แล้วยอมซื้อ A ที่แพงขึ้นเพื่อรับผลตอบแทน 18% การได้จ่ายลงทุนแพงแต่ได้ผลตอบแทนสูงขึ้นกว่าที่เคยได้ย่อมพอใจ มองฝั่งคนที่ขาย A มีสองกลุ่ม คืออยากได้สั้นๆ วันนี้ราคา a บาท ผลตอบแทนที่ได้คือ 20% ถ้าคนพอใจ 18% มาซื้อยอมจ่ายที่ 1.11a หรือพูดง่ายๆ หุ้นถูกเสนอซื้อสูงขึ้น 11.1% และจะไล่ราคาจนบวกไป 33.3% ก็ควรหยุด เพราะราคานี้ได้ผลตอบแทน 15% เท่ากับที่ถือ B จึงไม่รู้จะซื้อทำไม มองด้านคนขาย A ให้ แน่นอนทำกำไรไปแล้ว 33.3% แต่เขาไม่มีหุ้นดีๆ มั่นคงยาวๆ 20% แล้วตัวใหม่ที่มากกว่านี้ก็ไม่มี (เพราะถ้ามี คนก็จะมาซื้อไปแล้วเช่นกัน) ดังนั้นระยะยาวคนที่ได้สูงๆ 20% จะไม่ขาย ถ้าขายผลตอบแทนระยะยาวจะไม่เกิดอีก ในโลกการลงทุนที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือได้ตลอดเวลา จึงยากที่จะมีคนที่ได้ Excess Return ไปตลอดกาล ยกเว้นถือไม่ขายออก Excess Return จึงมาจากการได้ a (trade) มากกว่า b (ถือ) มูลค่าหุ้นที่ให้ Excess Return จากการดำเนินงาน ราคาจะปรับขึ้นจนเต็มมูลค่า แล้วระยะยาวกำไรบริษัทนั้นก็จะโตไปตามภาวะอุตสาหกรรม



คราวนี้มองในด้านบริษัท ยากเช่นกันที่บริษัทใดจะมีกำไรเหนือคนอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันได้ตลอดกาล เพราะต้องเกิดการแข่งขันโดยเฉพาะในตลาดการค้าเสรี การทำ Extra or Excess Return จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในระยะยาวๆ เลย อาจทำได้ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ยิ่งขนาดใหญ่ยิ่งยากขึ้น ฉนั้นในโลกการลงทุนจึงต้องคำนึงถึง High Risk, High Return เสมอ ผลตอบแทนจึงต้องมองควบคู่ความเสี่ยงเสมอ ซึ่งในผลตอบแทนที่ Classic ที่สุดคือ CAPM (Capital Asset Pricing Model) เมื่อ ri คือ Expected Return ของหลักทรัพย์ i ดังสมการต่อไปนี้  

ri  = rf + b * (rm – rf )

(rm – rf ) = RP = Risk Premium ผลตอบแทนของ Market โดยเฉลี่ยรวมที่สูงกว่าอราดอกเบี้ยสินทรัพย์ม่มีความเสี่ยง (นิยมใช้พันธบัตรรัฐบาล (คลัง) 1 ปี – Treasure Bill)

rm = Expected Market Return

rf  = Return of Risk Free Asset

b * (rm – rf ) = BRP = Business Risk Premium

จากสมการบอกเบื้องต้นบอกให้รู้ตามหลักการเงินว่า High Risk, High Return ความเสี่ยงคือ BRP โดยที่ b ค่าที่ว้ดความสัมพันธ์ความเสี่ยงของบริษัทนั้นเปรียบเทียบกับ Market เช่น 1.1 หมายความว่าบริษัทนั้นมีความเสี่ยงเฉลี่ยมากกว่าตลาด 1.2 เท่า หากตลาดให้ Market Risk Premium (rm – rf ) = 9% หุ้นบริษัทนั้นควรให้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่า rf + 1.2 * 9% = rf + 10.8% เป็นต้น



ซึ่งในโลกการเงินสามารถนำมาเขียนกลางทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุนได้ดังนี้

Ki   = rf +IP + LP + MTP + DRP/BRP

rf = Return of Risk Free Asset

IP = Inflation Premium ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ

LP = Liquidity Premium ความเสี่ยงจากสภาพคล่องในการได้รับหรือเปลี่ยนเป็นเงินสด

MTP = Maturity Premium ความเสี่ยงจากอายุตราสาร

DRP = Default Risk Premium ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระ มักใช้อันดับ Rating

b * (rm – rf ) = BRP = Business Risk Premium ความเสี่ยงจากธุรกิจ

หากมอง rf + LP + MTP ก็จะเข้าใจได้ง่ายขี้นว่าพันธบัตรที่อายุยาวทำไมถึงมี YIELD สูงกว่าพันธบัตร 1 ปี เพราะตราสารที่อายุยาว จะเสียโอกาสระหว่างการถือครองหากดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงไป LP คือสภาพคล่องที่จะเพิ่มขึ้นหากซื้อขายยาก เพราะเปลี่ยนหรือได้เงินสดช้า การจ่ายดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยทุกเดือนจะบวก LP น้อยกว่าตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน เพราะการได้เงินสดเร็วทำให้ได้โอกาสในการ reinvestment สูง สำหรับหุ้นแล้วที่ควรใช้ risk free rate ของ G-Bond 1 ปี เพราะหุ้นที่ซื้อขายในตลาดสามารถเปลี่ยนมือได้ทันทีไม่ได้ถูกบังคับโดยสภาพตราสารที่จะได้ YTM

YTM (Yield  To Maturity) ซึ่งหมายถึง ผลตอบแทนในการถือตราสารจนครบกำหนด เช่นผลตอบแทนหุ้นกู้ 6 ปี ให้ YTM 7.58% หมายถึงตลอดอายุการถือตราสารจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7.58% ถ้าไม่คิดว่าไม่มีการขายออกก่อนกำหนด ผลตอบแทน YTM นี้ ได้คำนึงถึงความเสี่ยงต่างๆ ในตัวตราสารแล้ว



ดังนั้นการไปถือ B/E ของบริษัทใดก็ตาม ผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ย ควรอย่างน้อยเท่ากับ rf +IP + LP + MTP + DRP/BRP แม้ตราสารจะ non-rate ก็ตามก็ต้องควรบวก BRP ลงไปแทน ฉนั้นจะเอาเพียงอัตราสูงกว่าเงินฝากเล็กน้อยดูจะไม่สมเหตุสมผลนัก คนมีหน้าที่บริหารเงินชาวบ้านต้องเข้าใจด้วยครับ

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

ความรู้เกี่ยวกับ B/E และ P/N เมื่อเทียบกับหุ้นกู้


ความรู้เกี่ยวกับ B/E และ P/N เมื่อเทียบกับหุ้นกู้

ช่วงนี้มีเรื่องการผิดนัดชำระเกี่ยวกับตั๋วบีอีของบริษัทในตลาดฯ มาก บางคนรู้จักแต่ B/E (Bill of Exchange) เรียกว่าตั๋วแลกเงินแต่ไม่คุ้นกับ P/N (Promissory Note) ตั๋วสัญญาใช้เงินสองตัวนี้ไม่ต่างครับในงบการเงินก็คือหนี้สินของผู้ออก



เคยถามบางคนต่างอย่างไร บางคนบอกว่า B/E คือ สถาบันออกตั๋วให้นักลงทุน เหมือนรับฝากเงิน

P/N คือ บริษัทไปกู้สถาบัน ไม่ใช่ครับ ทั้งสองอย่างคือหนี้ และคำว่าสถาบันคืออะไร สถาบันการเงินหรือเปล่าหรือบริษัท ใครออกก็ได้ครับ บริษัท ธนาคาร บริษัทเงินทุน เครดิตฟองซิเอร์ หรือ นาย ก บุคคลทั่วไป ออกได้หมด ความแตกต่างอธิบายแบบง่ายๆ B/E ก็คือตั๋วคิดลด ผู้ออกจะบอกว่าจะจ่ายใครเท่าไร วันไหน แต่ไม่ระบุดอกเบี้ย ไปหักคิดลดกันเองในวันได้ตั๋ว เช่น บริษัท A ออก B/E ให้ บริษัท Z ในตั๋วจะบอกว่าจะจ่ายให้คนถือตั๋วมารับเงิน 10,000,000 บาทใน วันที่ 1 มีนาคม 2560 (สมมติอีกสามเดือนข้างหน้า 90 วัน) บริษัท A จะได้เงินจากบริษัท Z น้อยกว่าหน้าตั๋วขึ้นกับดอกเบี้ยที่ต้องการ เช่นต้องการ 12% ต่อปี บริษัท Z ก็จะให้เงินบริษัท A = 10,000,000 / (1+0.12*90/365) = 9,712,613.09 การระบุว่าจ่ายให้ผู้ถือตั๋วลอยๆ จะเปลี่ยนมือง่าย ถ้าระบุชื่อต้องสลักหลังตั๋วเมื่อจะโอน เท่ากับบริษัท A กู้ยืมเงินจากบริษัท Z 10,000,000 บาท

บริษัท A จะลงบัญชีดังนี้

เดบิต___เงินสด___________9,712,613.09

_______ส่วนลดรอตัดจ่าย____287,386.91

______________________เครดิต เงินกู้ยืม______10,000,000.00

เมื่อจ่ายเงินค่าตั๋วบีอี บริษัท A จะลงบัญชีดังนี้

เดบิต เงินกู้ยืม______10,000,000.00

____ดอกเบี้ยจ่าย______287,386.91

____________________เครดิต เงินสด_________10,000,000.00

_________________________ส่วนลดรอตัดจ่าย____287,386.91



กรณีออกตั๋ว P/N จะแตกต่างนิดเดียวคือ P/N จะระบุดอกเบี้ยไว้ชัดเจนว่าจะจ่ายกี่ % ต่อปี เช่น บริษัท A ออก P/N ให้ บริษัท Z ในตั๋วจะบอกว่าจะจ่ายให้ 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 12% ต่อปี ใน วันที่ 1 มีนาคม 2560

บริษัท A จะลงบัญชีดังนี้

เดบิต___เงินสด___________10,000,000.00

______________________เครดิต เงินกู้ยืม______10,000,000.00

เมื่อจ่ายเงินค่าตั๋ว P/N บริษัท A จะลงบัญชีดังนี้

เดบิต เงินกู้ยืม______10,000,000.00

____ดอกเบี้ยจ่าย______295,890.41

____________________เครดิต เงินสด_________10, 295,890.41



ทั้งสองกรณี บริษัท A ลงหนี้สินในงบการเงิน 10,000,000 แต่บีอีจะแสดงหักส่วนลดรอตัดจ่าย 287,386.91เท่ากับยอดสุทธิ 9,712,613.09 P/N แสดง 10,000,000 แต่เมื่อถึงวันจ่าย ดอกเบี้ยเหือนกันคือ 287,386.91 กับ 295,890.41 ต่างกันเล็กน้อยเพราะเงินต้นได้รับต่างกัน



ดังนั้นจึงไม่แตกต่างกันเพียงแต่ บีอีคือตั๋วคิดลดนั่นเองดอกเบี้ยจะเอาเท่าไร เวลาเปลี่ยนมือก็ซื้อขายง่าย ส่วน P/N ระบุดอกเบี้ยบนหน้าตั๋ว ถ้าเปลี่ยนมือก็ต้องคำนวณสองครั้งคือวันครบจะได้รวมดอกเบี้ยตามหน้าตั๋วเท่าไร และคิดลดกลับมาอีกครั้งว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต้องการ (ซึ่งอาจแตกต่างจากหน้าตั๋ว) มูลค่าจะจ่ายลงทุนเท่าไร จึงยุ่งยากในการซื้อขายเปลี่ยนมือ จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมในภาคเอกชน



จะเห็นว่า P/N ก็เหมือน หุ้นกู้ที่ระบุอัตราดอกเบี้ย (Coupon Bond) ส่วน B/E หุ้นกู้ที่เรียกว่า Zero Coupon Bond หุ้นกู้คือหนี้ที่แบ่งเป็นหน่วยย่อยเท่าๆกัน มองดีๆ ก็เหมือนออก P/N หลายๆใบๆ ละเท่าๆ กันมาผูกรวมกันล๊อตเดียวใหญ่ๆ ขายนั่นเอง ส่วน B/E ก็คือ Zero Coupon Bond หลายๆใบกันมาผูกรวมกันล๊อตเดียวใหญ่ๆ P/N และ B/E ออกให้เฉพาะคนๆเดียว แต่หุ้นกู้ออกขายได้หลายๆ คนในคราเดียว ดังนั้นจึงไม่ได้แตกต่างจากเรื่องหนี้สินหรือการลงทุนในตราสารหนี้เลย ดังนั้นใครอ้างว่า เพราะดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ พอบีอีให้ผลตอบแทนสูงก็จึงลงทุน กองทุนนั้นๆ แย่มาก ตรรกะผิด เพราะถ้ามันคือหนี้ ตราสารหนี้ เวลาลงทุนต้องคิดว้าให้กู้ยืม เวลาให้กู้ยืมคิดดอกเบี้ยเอาแค่ส่วนต่างสูงกว่าเงินฝากเล็กน้อยหรือ เห็นการเบี้ยวหนี้ผิดนัดชำระแล้วสมเพชคนลงทุนมากกว่าครับ ส่วนที่ผิดนัดชำระพวกนี้ก็แค่ NPL ครับ

การตลาดจาก 4Ps ไป 4Cs และสู่ 4Es


การตลาดจาก 4Ps ไป 4Cs และสู่ 4Es

ในหลักการตลาดหลายคนคงคุ้นกับ 4Ps พอควร มุมมองการตลาดได้ ขยายเพิ่มเติมจาก 4 Ps ไปสู่ 4Cs และ 4Es ในที่สุด แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนอย่างไรหลักการพื้นฐานยังคงเดิมเพียงแต่เพิ่มหรือขยายมุมองให้กว้างขึ้น

1.        Product      -----> Customer          -----> Experian

2.        Price          -----> Cost                  -----> Exchange

3.        Place         -----> Convenience     -----> Everyplace

4.        Promotion -----> Communication -----> Evangelism

-        สินค้า/บริการ จากเดิมที่เริ่มว่าผลิตอะไร ต้องคำนึงถึงความต้องการลูกค้า ความพึงพอใจลูกค้า (Customer’s Need & Customer’s Satisfaction) นั้นคือสร้าง Value Proposition (การนำเสนอคุณค่า) แต่เพียงเท่านี้ไม่พอ เพราะการสร้าง Value Proposition ลูกค้าจะรับรู้ได้เมื่อลูกค้าต้องมี Experiences (ประสบการณ์) ในตัวสินค้า เราจะเห็นการตลาดปัจจุบันนำเสนอประสบการณ์การใช้จากลูกค้าคนอื่นที่ได้รับจริงมาแล้วว่าดีจริง ตอบความต้องการได้ นอกจากนี้ลูกค้าอยากดู สัมผัสสินค้าตัวอย่างจริงด้วยตนเอง จึงเห็นว่าการขายปัจจุบัน ขายผ่านออนไลน์มากขึ้น แต่ลูกค้าสั่งซื้อเมื่อได้เห็นสินค้าจริงมกกว่าการดูรูปในมือถือหรือในคอมพิวเตอร์เท่านั้น การมี Experience ใน Product ที่ตอบ Customer’s Need & Customer’s Satisfaction นั้นสำคัญ เพราะทำให้ Value Proposition ที่สร้างและนำเสนอเป็นรูปธรรม ส่วนนี้คือการสร้าง Business Model Canvas 2 ข้อคือ V (Value Proposition) และ C (Customer)

-        เมื่อทำข้อข้างต้น ต่อมาต้องทำการกำหนดราคา ในอดีตการทำ Pricing ถือเป็นเรื่องไม่ง่ายนักเพราะต้องคำนึงถึงสองส่วนคือ ราคาที่แข่งขันได้ และกำไรธุรกิจ ยิ่งตลาดเป็น ROS (Red Ocean Strategy) ราคาต้องใกล้เคียงคู่แข่งขันในตลาด หลายบริษัทจึงพยายามสร้าง Market Segment ย่อยมากมาย พยายามทำ Market Segment ย่อยนั้นให้เป็น Blue Ocean โดยการสร้างความแตกต่าง (Differentiation) การสร้างความแตกต่าง การใส่คุณค่าแห่งความแตกต่างย่อมมี Cost เพิ่มขึ้น ดังนั้นการกำหนด Price จึงต้องดู Cost ด้วย แต่ปัญหาที่ตามมาคือจะกำหนด Margin เท่าไร ลูกค้าจะยอมจ่ายมากน้อยขึ้นกับว่าเงินที่จ่ายเพิ่มนั้นแลกอะไรมา (Exchange) ดังนั้นยังเชื่อมโยงกับข้างต้นคือ อะไรคือ Value Proposition ที่ได้มา ลูกค้าถ้ายิ่งเห็นคุณค่ามาก ย่อมกล้าที่จะจ่ายส่วนต่างที่สูงขึ้น ถ้าเห็นหรือรับรู้น้อยก็ให้ราคาต่ำลง ดังนั้น Experiences จึงสำคัญดังที่กล่าวข้างต้น ส่วนนี้คือการสร้าง Business Model Canvas 2 ข้อคือ R (Revenue Streams) และ C (Cost Structures)

-        ถัดไปคือ Place หรือ Distribution Channel ช่องทางจำหน่าย ส่วนหนึ่งใน Business Model Canvas ในโลกปัจจุบันการเข้าถึงลูกค้าสำคัญมาก ในอดีตต้องมี Outlet สถานที่ไว้วางสินค้าขาย ใครมีมากก็ได้เปรียบ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันการเข้าถึงลูกค้าไม่ยาก ขณะเดียวกันลูกค้าก็ต้องการความสะดวกสบาย (Convenience) ด้วย ดังนั้นการกำหนดช่องทางจำหน่ายจึงต้องคิดถึง Convenience และ Everywhere ลูกค้าธุรกิจต้องเข้าถึงหรือเห็นสินค้าได้ง่าย เราจึงเห็นการขายแบบ Delivery อยากได้อะไร อยากกินอะไร ก็ดูผ่าน Smart Phone กดแล้วสั่ง โอนเงินหรือรอที่บ้านรับของจ่ายเงิน เป็นอะไรที่ Convenience และ Everywhere ถ้าต้องหา Place มี Outlet ก็ต้องกระจายให้มาก Everywhere เพื่อให้ลูกค้าเกิด Convenience ห้างต้องมีที่จอดรถ หรอรถไฟฟ้าผ่าน เป็นต้น

-        ต่อมาในหลักการตลาดคือ Promotion มีมากมายหลายวิธี ภาษาทั่วไปง่ายๆคือ ลด แลก แจก แถม และ โฆษณา ในทางการตลาดคือการสร้าง Awareness ความตระหนักรับรู้ในสินค้า ซึ่งก็คือการสื่อสาร (Communication) ให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย (Target Market) รู้จักสินค้า รู้ว่าบริษัทขายอะไร นำเสนอความแตกต่างที่มีคุณค่าอะไร ถ้าลูกค้าไม่รู้สิ่งที่สินค้ามี คุณค่าที่จะนำเสนอให้ก็ขายไม่ออก ดังนั้นการทำ Promotion ก็เป็นการสื่อสาร (Communication) กับลูกค้านั่นเอง ถ้าทำไปแล้วลูกค้าไม่รับรู้ การทำการส่งเสริมการขายนั้นก็ไร้ผล ลดราคาเพื่อดึงให้ลูกค้ามาใช้เพื่อให้เกิด Experiences แต่ถ้าลูกค้าตีความเพียงขายของลดราคาเพื่อเลหลัง ลดสต็อก ก็จะไม่เกิดการรับรู้คุณค่ามากนัก รอซื้อเมื่อลดราคาเท่านั้น สุดท้ายต้องขายถูก ยอดขายเพิ่มแต่อัตรากำไรลดลง ของแถมก็เช่นกัน ด้านการตลาดในปัจจุบันคือการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship) เป็นการสร้าง Promotion ที่มั่นคงเพื่อนำไปสู่การสร้าง Brand Loyalty (ความภักดีในตราสินค้า) Customer Relationship เป็นข้อหนึ่งใน Business Model Canvas

   

ดังนั้นใน Business Model Canvas 9 ข้อ VCD CRA CRP (Value Proposition, Customer, Distribution, Customer Relation, Resource, Activity, Cost Structure, Revenue Stream, Partner and Network) จะเห็นว่า มีทั้ง 6 ข้อ Resource ก็มีส่วนของ Place & Outlet และการลงทุนสร้าง Platform ที่เป็นส่วนหนึ่งในสินทรัพย์ (Resources) ของธุรกิจที่จำเป็น จากนั้นบริษัทก็ต้องสร้างกระบวนการ (Processes) หรือ Activities ทางการตลาด และการดำเนินงาน เพื่อให้เกิด Marketing Mix (การผสมผสาน 4Ps-4Cs-4Es) และการสร้าง Partner and Network จะช่วยเสริมความแกร่งของธุรกิจ



จะเห็นว่าการศึกษาและวิเคราะห์เชิงคุณภาพนั้นกว้างกว่าเข้าใจเพียง Business Model เท่านั้น บางคนว่า Business Model ก็ยากแล้ว การตลาด (มี 4Ps-4Cs-4Es) และยังเชื่อมกับ Moats และ 5 Forces ด้วย