วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559

การไซฟ่อนเงิน ตอนที่ 2


การไซฟ่อนเงิน ตอนที่ 2

ต้องยอมรับว่าการดูข้อมูลเพื่อบอกว่าบริษัทไซฟ่อนหรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย รวมถึงบางเรื่องต้องใช้เวลายาวนาน และเข้าใจทางการบัญชีพอควร แต่มีไฟย่อมมีควัน ดังนั้นเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น อย่างน้อยต้องมีเงื่อนพอให้สืบค้นเรื่องราวต่อไปได้บ้าง คำแนะนำเบื้องต้นให้สัญญาณต่างๆ มีดังนี้

1. จับสัญญาณจากงบการเงิน โดยอาศัยวิเคราะห์อัตราส่วนจากข้อมูลในงบการเงิน หรือแม้แต่ความเห็นของผู้สอบบัญชี เช่นถึง แม้ผู้สอบบัญชีจะรับรองว่างบการเงินถูกต้อง แต่มีการตั้งข้อสังเกตบางอย่าง (รายงานผู้สอบบัญชีให้ข้อสังเกต ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในรายงาน เดิมบางผู้สอบบัญชีก็มีเขียนรายงานอยู่แล้ว) อันนี้ต้องดูรายละเอียดว่า ผู้สอบบัญชีกำลังบอกอะไร เช่น ผู้สอบบัญชีอาจบอกว่า บริษัทมีการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันเป็นจำนวนมากด้วยข้อความหน้างบว่า “โดยมิได้เป็นการแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขต่องบการเงินข้างต้น ข้าพเจ้าขอให้สังเกตหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 3 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายการค้าระหว่างบริษัทและบุคคลที่เกี่ยวข้องกันเป็นจำนวนมาก และในระหว่างปีบริษัทมีการรับคืนสินค้า เนื่องจากสินค้าเสียหาย” เป็นต้น

สัญญาณที่จะสะท้อนว่างบการเงินมีปัญหา จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อความเห็นของผู้สอบบัญชีออกแนวเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ ได้แก่ การแสดงความเห็นต่องบการเงินนั้นแบบมีเงื่อนไข เช่น บอกว่าถ้าไม่นับเรื่องนี้แล้ว งบการเงินที่เหลือถูกทั้งหมด หรือการบอกว่า ไม่อาจแสดงความเห็นต่องบการเงินได้ เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงขั้นที่แรงสูงสุด คือ บอกว่างบการเงินนั้นไม่ถูกต้อง

2. ข้อมูลการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน ไม่ใช่ว่าการที่บริษัททำรายการเหล่านี้จะไม่ดีเสมอไป  แต่มีเพียงบางกรณีที่ถูกใช้เป็นช่องทางถ่ายเทผลประโยชน์ได้ ดังนั้น ในฐานะผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทคนหนึ่ง  ควรรักษาประโยชน์ของตนเอง โดยเข้าไปดูว่าการทำรายการนั้นมีประโยชน์อะไรบ้างต่อบริษัท มีความสมเหตุสมผลไหม ที่สำคัญคือ ราคามีความเป็นธรรม สมเหตุสมผลหรือไม่ หรือมีเงื่อนไขอย่างไร ทำให้บริษัทเสียประโยชน์หรือไม่ มีหลายกรณีที่รายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทดูน่าสงสัย แต่ก็ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ถือหุ้นที่ไม่เห็นด้วย ไม่ได้เข้าประชุมเพื่อใช้สิทธิโหวตคัดค้าน หรืออาจไม่เข้าใจ จึงไม่ให้ความสนใจตรงนี้

3. ควรติดตามว่าบริษัทได้ทำอะไรที่ไม่ใช่ธุรกิจปกติหรือไม่ เช่นธุรกิจหลักของบริษัทไม่ได้เป็นธนาคาร แต่ทำไมชอบปล่อยกู้เสียจริงหรืออาจให้สินเชื่อการค้า แล้วต่อมาก็มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญ เราควรติดตามดูรายการเหล่านี้ว่าบริษัทมีมาตรการอย่างไร มีการวิเคราะห์ความสามารถของลูกหนี้ในการชำระคืนเงินกู้หรือไม่ หรือบางทีบริษัทไปลงทุนในอะไรใหม่ๆ ที่บริษัท ไม่มีความรู้ความชำนาญมาก่อน ต้องดูว่ามีความสมเหตุสมผลไหม  

4. พิจารณาว่าบริษัทมีระบบการควบคุมภายในที่ดีพอหรือไม่ เช่น ให้บุคคลคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจลงนามโดยไม่มีระบบคานอำนาจ ก็เป็นช่องทางให้เกิดการไซฟ่อนได้ง่าย หรือหากระบบควบคุมภายในไม่ดีก็ทำให้เกิดการรั่วไหลของทรัพย์สินได้ง่ายเช่นกัน ตัวช่วยบอกสัญญาณในเรื่องนี้ก็มาจากรายงานผู้สอบบัญชี อัตราส่วน turnover ต่างๆ ผันผวนสูงๆ สม่ำเสมอ



บริษัทที่จะลงทุนถ้าหากส่งสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักว่าอาจมีการไซฟ่อน ไม่ผิดถ้าคุณจะถอยหลังออกมา เพราะยังมีหุ้นตัวอื่นๆ ให้เลือก จำไว้ว่าการลงทุนในหุ้น ถึงแม้จะดี ก็มีความยังเสี่ยงในการลงทุนตามปกติอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องเพิ่มความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่น่าสงสัยว่าจะมีการไซฟ่อนอีก บางคนสนใจทำกำไรเพียงสั้นๆไม่กี่วัน ไม่กี่สัปดาห์ไม่กี่เดือน ถ้าติดหุ้นก็ต้องทำใจยอมรับ cut loss เพราะบางทีอาจใช้เวลานานกว่าความจริงจะปรากฏ หุ้นก็อาจลงมามากกว่าที่คิด จึงควรเลือกปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า

การไซฟ่อนเงิน ตอนที่ 1


การไซฟ่อนเงิน ตอนที่ 1

         เรามักได้ยินคำสองคำ บางคนอาจจะสับสนระหว่างคำว่าการไซฟ่อนเงินกับการฟอกเงิน ทั้งสองคำนี้ต่างกัน การไซฟ่อนเงิน (money siphoning) คือการยักย้ายถ่ายเทผลประโยชน์ของบริษัทไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ส่วนการฟอกเงิน (Money laundering) หมายถึง การกระทำใด ๆ ที่ทำให้เงินที่ได้มาโดยการกระทำที่มิชอบด้วยกฏหมาย หรือได้มาโดยการไม่สุจริตให้กลายเป็นเงินที่ได้มากโดยถูกต้องตามกฏหมาย หรือการฟอกเงิน ก็คือ การทำเงินที่สกปรกให้สะอาด ตลาดหุ้นก็ถือเป็นแหล่งหนึ่งที่อาชญากรทางการเงินใช้เป็นที่ฟอกเงิน แต่วันนี้เราจะไม่พูดถึงเรื่องการฟอกเงิน แต่จะพูดถึงเรื่องการไซฟ่อนเงิน



การยักย้ายถ่ายเทผลประโยชน์ของบริษัทออกไปเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของเจ้าของบริษัท สำหรับในประเทศไทยเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยที่บางครั้งคนซื้อหุ้นเสียประโยชน์โดยไม่รู้ตัว การไซฟ่อนเงิน (money siphoning) โดยอาจจะทำผ่านช่องทางการทำธุรกิจปกติ เช่นในรูปของการซี้อขายสินค้าและสินทรัพย์ การกู้หรือให้ยืมเงิน การค้ำประกันระหว่างบริษัทจดทะเบียนกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้บริหารหรือกิจการของคนเหล่านั้น แม้แต่การใช้ข้อมูลภายใน (inside information)

ข้อสังเกตพฤติกรรมของการไซฟอนเงิน จะมี 4 แบบหลัก ๆ คือ

1. การที่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ทำการซื้อสินค้า สินทรัพย์ หรือเงินลงทุนในราคาที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะกับบริษัทในเครือหรือบริษัทร่วมที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวผู้บริหาร เจ้าของ หรือผู้ถือหุ้น ตัวอย่างแบบที่หนึ่ง คือ การที่บริษัทจดทะเบียนซื้อหรือขายสินค้า หรือทรัพย์สิน ราคาสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะกับกรรมการ/ผู้บริหาร/ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือบริษัทในเครือ/บริษัทที่เกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านั้น เช่น บมจ. AAA ได้ลงทุนซื้อหุ้น 25% ของ บจก. GGG (เป็นบริษัทของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือหุ้นใน AAA ด้วย) ในราคา 125 ล้านบาท ทั้งที่มูลค่าตามบัญชีเพียง 60 ล้านบาท โดยอ้างว่ามูลค่าที่จ่ายเพิ่มเป็นค่าความนิยมของ บจก. GGG แต่ในเวลาต่อมาไม่นาน บมจ. AAA ต้องตั้งสำรองเผื่อขาดทุนจากการด้อยค่าหุ้น บจก. GGG ถึง 80 ล้านบาท และในปีถัดมา GGG ก็อาจทำธุรกิจขาดทุนจนกระทั่งอีกไม่นานก็เลิกกิจการ เป็นต้น ดังนั้นไม่ว่าจะจ่ายราคาที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าความเป็นจริง เงินก็จ่ายไปแล้ว และการซื้อต่ำในตอนแรก ก็บันทึกกำไรจากการต่อรองแล้ว ราคาหุ้นก็ดันขึ้นไปอีกด้วย เท่ากับเจ้าของได้สองต่อ

อีกตัวอย่างของการไซฟ่อนเงิน ซึ่งในรูปแบบที่มักเกิดขึ้น ก็คือ เรื่องของการซื้อที่ดินในราคาสูง โดยมักให้เหตุผลว่าเพื่อเตรียมขยายโรงงาน เช่น ซื้อที่ดินจากบริษัทที่เป็นบริษัทที่ภรรยา/ลูก/คนที่เกี่ยวข้องของประธานกรรมการในบริษัทใหญ่ที่ถือหุ้นอยู่ ในราคา 750 ล้านบาท ซึ่งในเวลาต่อมา ปรากฏราคาประเมินของที่ดินแปลงดังกล่าวเพียง 245 ล้านบาท แถมบริษัทใหญ่ยังประกาศยกเลิกแผนขยายโรงงาน เท่ากับที่ดินที่ซื้อมาไม่มีการใช้ประโยชน์ตามที่บอกไว้ตอนซื้อ แต่ได้มีการผ่องถ่ายเงินของ บมจ. ออกไปยังบริษัทที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารเรียบร้อยแล้ว

2. การที่บริษัทจดทะเบียนอนุมัติเงินกู้หรือลดหนี้สิน หรืออำนวยความสะดวกในด้านใดด้านหนึ่งเกี่ยวกับการเงินของผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร หรือการอนุมัติเงินลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่มีความชัดเจนว่าจะกู้เงินหรือลงทุนในเรื่องใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่บริษัทนั้น ๆ ยังอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ในรูปแบบที่สองนี้ เช่นการที่ บริษัทจดทะเบียนให้กู้หรืออำนวยประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นใหญ่ในกิจการส่วนตัว แล้วขอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติอนุมัติ และภายหลังปรากฏว่า การให้กู้หรืออำนวยประโยชน์ดังกล่าวทำให้บริษัทจดทะเบียนได้รับความเสียหาย เช่นปล่อยกู้แก่บริษัทส่วนตัวของนาย B ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการแห่งหนึ่ง ต่อโครงการดังกล่าวถูกเลื่อนไปไม่มีกำหนด บริษัทส่วนตัวของนาย B ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้ แล้วต่อมาบริษัทนาย B ก็ขอแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งก็เหมือนกับไปซื้อกิจการไม่ดีนั่นเอง

3. การซื้อหุ้นคืน บ่อยๆ โดยก่อนซื้อคืนอาจมีการทำราคาให้สูงขึ้น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือเจ้าของก็สามารถขายคืนบริษัทในราคาสูง ก่อนปล่อยให้ราคาตกเพื่อมาซื้อกลับรักษาสัดส่วนเสียงส่วนใหญ่ไว้ มักนิยมทำหลังการประชุมสามัญหรือการผ่านวาระการโหวตเรื่องสำคัญแล้ว เพราะช่วงนั้นไม่ต้องถือหุ้นเพื่อออกเสียง ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญ การที่บริษัทมีเงินสดมากแต่ไม่เอาไปลงทุนขยายงาน ย่อมไม่เกิดประโยชน์กับผู้ถือหุ้น ลักษณะหุ้นแบบนี้มักมีช่วงขึ้นลงกว้าง ราคาผันผวนมาก หรือ High Price Volatility

4. การตกแต่งบัญชี โดยการตัดบัญชีหนี้เสียออก การทำ Big Bath  แบบนี้มักทำการปลอมแปลงเอกสาร/หลักฐาน รวมถึงเปิดบริษัทขึ้นมาทำธุรกรรมซื้อขายลวง เพื่อไซฟ่อนเงินออก โดยมีการโยกเงินออก เพื่อซื้อวัตถุดิบกับบริษัทดังกล่าว และจัดทำเอกสาร/หลักฐานปลอมขึ้นมา ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้มีการซื้อขายสินค้ากันจริง เป็นต้น วิธีการที่ผู้กระทำผิดมักใช้ปิดบังไม่ให้ผู้อื่นรู้ว่าตัวเองกำลังผ่องถ่ายเงินจากบริษัท ก็คือ การตกแต่งงบการเงิน หรือซุกซ่อนไว้ในการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน (เป็นการทำรายการระหว่างบริษัทกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เช่น ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้ที่เกี่ยวข้องและญาติสนิทของผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รวมถึงกิจการที่คนเหล่านี้ มีอำนาจควบคุมด้วย) แถมหลังๆ วิธีการที่ใช้มีความซับซ้อนขึ้น เช่น หา nominee เป็นชื่อคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องมาทำรายการแทน ทำให้ไม่เข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน ตามรอยยากขึ้นไปอีก