วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ค่าเผื่อ(สำรอง)หนี้สงสัยจะสูญ สินทรัพย์รอการขาย (For sale assets)


ลูกหนี้การค้า (รวมทั้งเงินให้กู้ยืม/เช่าซื้อ) หนี้สงสัยจะสูญ ค่าเผื่อ(สำรอง)หนี้สงสัยจะสูญ สินทรัพย์รอการขาย (For sale assets)

กรณีกิจการที่ทำเช่าซื้อและลิสซิ่งในเนื้อหาทางการเงินและบัญชีแล้วเช่าซื้อและลิสซิ่งไม่ต่างกันเลย คือการผ่อนชำระเป็นงวดเท่าๆกันจนจบสัญญา แต่ทางกฎหมายเรียกต่าง โดยกิจกรรมใดที่มีการจ่ายเงินดาวน์เรียกเช่าซื้อและถ้าลิสซิ่งคือผ่อนทั้งก้อน ดังนั้นอย่าสับสน เวลาวิเคราะห์ลักษณะกิจการทั้งสองจะไม่ต่างกัน



กิจการเช่าซื้อจะมีทั้งขายสินค้า และให้ผ่อนชำระ ส่วนลิสซิ่งไม่ต้องมีสินค้าเลยก็ได้คล้ายปล่อยกู้ ดังนั้นในกิจการเช่าซื้อจะมีทั้งรายการขายและดอกเบี้ยรับ (ดอกผล) จากการเช่าซื้อ ลูกหนี้ก็แยกรายการออกจากกัน บางบิษัท มีทั้งขายและเช่าซื้อเช่น SINGER บางบริษัทเช่น S11 หรือ ML ทำเพียงเช่าซื้อ เป็นต้น กิจการที่ทำเช่าซื้ออย่างเดียวล้วนๆ จะเหมือนลิสซิ่งคือไม่มีสินค้าคงเหลือ ไม่มีต้นทุนขาย แต่บางบริษัทอาจมี แต่ไม่มาก น่าจะมาจากมีสินค้าไว้เพียงตั้งโชว์ แต่เมื่อลูกค้าต้องการก็จะส่งตรงจาก dealer ให้เลย ไม่ใช่เอาของแสดงไปขายให้



ลูกหนี้เงินให้กู้ยืม/เช่าซื้อ จึงต่างจากการขายสินค้าของกิจการผลิตหรือซื้อมาขายไปทั่วไป กิจการทั่วไป ขายสินค้า บันทึกรายได้จากการขายเป็นรายได้ทั้งหมดทันที (ลูกหนี้ = ขาย) แต่ธุรกิจเช่าซื้อและลิสซิ่งเกิดลูกหนี้เงินให้กู้ยืม/เช่าซื้อขึ้น แต่ยังไม่บันทึกรายได้ ลูกหนี้เงินให้กู้ยืม/เช่าซื้อจะนำมาซึ่งรายได้ดอกเบี้ยรับ/ดอกผลรับจากการเช่าซื้อ รายได้จึงไม่ใช่สินทรัพย์ทั้งก้อน (ลูกหนี้เงินให้กู้ยืม/เช่าซื้อ) แต่มาจากการลงทุนในลูกหนี้เงินให้กู้ยืม/เช่าซื้อ แล้วได้ผลตอบแทนดอกเบี้ยรับ/ดอกผลรับจากการเช่าซื้อ ส่วนตรงนี้เมื่ออานงบกระแสเงินสดต้องเข้าใจ แนวคิดเดิมของงบกระแสเงินสด คือการแปลง accrual basis เกณฑ์สิทธ์ให้เป็น cash basis เกณฑ์เงินสด แปลงขายให้เป็นเงินสด เช่าซื้อและลิสซิ่ง (หรือของธนาคาร) ลูกหนี้เงินให้กู้ยืมไม่ใช่รายได้แต่เปรียบเหมือนการลงทุน และรายได้ที่จริงในงบกำไรขาดทุนคือ ดอกเบี้ยรับซี่งมีผลตอการอ่านงบกระแสเงินสด เพราะเกณฑ์มาตรฐานบัญชีใช้หลักเกณฑ์ของกิจการผลิตในเรื่องลูกหนี้ไปใช้กับธุรกิจการเงินนำยอดเปลี่ยนแปลงในลูกหนี้ไปปรับปรุงในส่วนของกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน ทำให้หลายคนสับสนและตีความผิด ถ้าจะให้ถูกต้องเอารายการเปลี่ยนแปลงในลูกหนี้เงินให้กู้ยืม/เช่าซื้อปรับออก (ถ้าลูกหนี้เงินให้กู้ยืม/เช่าซื้อ ลบให้บวกกลับ บวกให้ลบออก) ธนาคารก็ทำแบบดียวกัน แล้วเพิ่มเติมรายการรับฝากเงินเข้าไปด้วยอีกรายการ ก็จะได้เงินสดจากดอกเบี้ยสุทธิหักรายจ่ายในการดำเนินงาน ตรงนี้แหละคือเงินสดจริงๆ ว่าที่ปล่อยกู้ไป ได้ดอกเบี้ยและได้เงินจากค่าธรรมเนียม พอเอาไปหักต้นทุนดอกเบี้ยที่ต้องจ่านเงินสด จ่ายค่าใช่จ่ายดำเนินงานเงินสดพอหรือไม่ ได้เพิ่มขึ้นมากหรือไม่



ในหลักการตั้งสำรองไม่แตกต่างกัน คือดูความสามารถในการจ่ายคืน โดยพิจารณาจากลูกหนี้แยกอายุ ยิ่งมียอดค้างชำระหลังครบกำหนดชำระนานยิ่งควรตั้งสำรองให้มากขึ้น ปกติยอดค้างเกินสามเดือนจะตั้งครบ 100% และเรียกสินเชื่อที่ค้างเกินชำระเกินสามเดือนว่า NPL อาจมีบางบริษัทกำหนดการหยุดรับรู้รายได้ดอกเบี้ยเกินกว่าสามเดือนก็มี ก็ต้องระวัง อาจหมายเหตุให้ดี และกิจการที่ใช้หลักระมัดระวังควรตั้งสำรองส่วนเกินเพิ่มอีกจำนวรหนึ่งหลังจากคิดตาม % ของยอดค้างชำระตามอายุลูกหนี้ จะถือว่าป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจที่อาจมีผลต่อความสามารถในการชำระในอนาคต



ผลจากการตั้งค่าเผื่อ(สำรอง)หนี้สงสัยจะสูญ จะทำให้ส่วนเพิ่มรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายหนี้สงสัยจะสูญในงบกำไรขาดทุน หากการตั้งค่าเผื่อ(สำรอง)หนี้สงสัยจะสูญลดลงส่วนลดลงรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายหนี้สงสัยจะสูญโอนกลับ (ยอดลบ) ในงบกำไรขาดทุนหลักการก็คล้ายกับการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในกิจการผลิตทั่วไปนั่นเอง โดยทั่วไปการดูคุณภาพลูกหนี้ของธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง การพิจารณาการตั้งค่าเผื่อ(สำรอง)หนี้สงสัยจะสูญสำคัญต่อการดูคุณภาพลูกหนี้มาก เพราะเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งสำคัญกับธุรกิจกลุ่มการเงิน ที่มีลูกหนี้เงินให้กู้ยืมเป็นสัดส่วนสูงมาก ราว 70-80% ถ้ามูลค่าลูกหนี้ไม่ตั้งสำรองให้พอกับความไม่แน่นอนในอนาคต ก็จะแสดงกำไรมากเกินไป เพราะสินทรัพย์สูงเกินไป (นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ผมมักให้ระวังการดู P/BV ว่าต่ำไม่ใช่ว่าดีเสมอ เพราะธุรกิจอาจ แสดง BV สูงเกินไป)



นอกจากการดูการตั้งค่าเผื่อ(สำรอง)หนี้สงสัยจะสูญ แล้ว ความจริงมีอีกรายการหนึ่ง มักเป็นรายการเล็กๆ และนักลงทุนมองข้ามไปรายการนี้สะท้อนได้ดีว่างวดที่ผ่านมาตั้งการตั้งค่าเผื่อ(สำรอง)หนี้สงสัยจะสูญน้อยไปและสามารถใช้หลอกตาคนอ่านงบลงทุนได้คือ รายการสินทรัพย์รอการขาย (For sale assets)



รายการนี้คือสินทรัพย์ที่ยึดมาจากลูกหนี้ที่ค้างชำระ ปกติตามกฎหมาย ถ้าลูกหนี้เช่าซื้อผิดนัดชำระเกินสองงวด บริษัมสทสมารถไปยึดได้เลยแต่ไม่ทำกัน มักเจรจามาชำระหนี้ก่อน ถ้ายึดมาบางทีเป็นภาระกิจการไป ยิ่งถ้าผ่อนมานานใช่มานาน ของที่ยึดมาขายทอดตลาดยาก/ไม่ได้ราคาคุ้มหนี้อีก เวลาตัดสินใจยึดสินทรัพย์มาจะลงบัญชีดังนี้

เดบิต สินทรัพย์รอการขาย_______1600    

เดบิต ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ______800

เดบิต หนี้สูญ__________________200

_________________เครดิต ลูกหนี้เงินให้กู้ยืม______2600

ถ้าขณะนั้นลูกหน้ามียอดค้างเหลือ 2600 และบริษัทตั้งยอดค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้ 800 ของที่ยึดมาประเมินมูลค่าไว้เมื่อยึด 1600 ส่วนขาดคือหนี้สูญ บางกรณีกิจการอาจตัดค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 1000 ไปเลยก็ได้ แล้วค่อยรับรู้ส่วนเพิ่มค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอีก 200 แทน ทั้งสองรายการก็คือค่าใช้จ่ายทั้งคู่ในหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญของงบกำไรขาดทุน



ข้อสังเกต สมมติงวดก่อนตั้งยอดค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้น้อย ค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญของงบกำไรขาดทุนก็จะน้อย ถ้างวดหรือปีถัดมาเก็บเงินไม่ได้ก็ค่อยยึดสินทัพย์ กำไรปีก่อน/งวดก่อนก็ไม่กระทบ แล้วเวลายึด ก็ตีราคาสินทรัพย์รอขายให้มากหน่อย แล้วงวดถัดไปค่อยรับรู้ขาดทุนจากการลดมูลค่าสินทรัพย์รอการขาย (ด้อยค่า) หรือไปลงขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์รอการขายเมื่อขาย วิธีการนี้คือ  creative accounting เรียกว่า deferred expense แบบหนึ่ง สร้างกำไรให้ดูมากงวดนี้ แล้วไปรับรู้ขาดทุนงวดหน้ายิ่งถ้ารู้ว่างวดหน้าจะขาดทุนยิ่งทำง่ายเพราะ Take A Big Bath ไปเลย ดังนั้นผมมักจะดูยอดการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์รอขายประกอบ รายการนี้สัดส่วนน้อย แต่สามารถนำมาช่วยตกแต่งรายจ่ายได้



ในงบกระแสเงินสดจะพบว่ามีขาดทุนจากการลดมูลค่าสินทรัพย์รอการขายและขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์รอการขายอยู่ บางทีดูเหมือนรายจ่ายในงวดนั้น และไม่ใช่เงินสด (นำมาบวกกลับ) แต่คือรายจ่ายที่เลื่อนการรับรู้ในงวดที่แล้วมานั่นเอง

ลูกหนี้การค้า หนี้สงสัยจะสูญ ค่าเผื่อ(สำรอง)หนี้สงสัยจะสูญ


ลูกหนี้การค้า หนี้สงสัยจะสูญ ค่าเผื่อ(สำรอง)หนี้สงสัยจะสูญ  

ในกิจการทั่วไป เมื่อขายสินค้า/บริการ ก็จะเกิดรายได้/ขาย ขึ้นและลงรายการลูกหนี้การค้าหรือเงินสดถ้าขายเงินสด สิน้าก็จะลดลงแล้วกลายเป็นต้นทุน สมการบัญชีจะเป็นดังนี้

เงินสด + ลูกหนี้การค้า สินค้า  = ขาย ต้นทุนขาย

สมมติขาย 3000 สินค้าต้นทุน 2400 ขายเป็นเงินสดส่วนหนึ่ง 900 บาท เงินเชื่อ 2100 สมการบัญชีคือ

900 + 2100 -2400            = 3000 -2400  ..... สมการสมดุล เดบิต = เครดิต

600                                   = 600  ..... สมการสมดุล เดบิต = เครดิต

ถ้าสิ้นงวดยังไม่เก็บเงินจากลูกหนี้ ปกติกิจการต้องประเมินหนี้ที่อาจจะเก็บไม่ได้ สมมติมีการประเมินว่าจะมีราว 500 ที่จะเรียกเก็บไม่ได้ จำนวนนี้ต้องนำมาตั้งเป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ

600 -500                          = 600-500 ….. กำไร

งบดุล (งบแสดงฐานะการเงิน) จะเป็นดังนี้ (สินค้าขายหมด เดิมมี สินค้า = ทุน ที่ 2400)

เงินสด                                900     

ลูกหนี้การค้า                    1600   == >  ล/น ค่าเผื่อหนี้ 2100- 500

ทุน                                   2400

กำไร                                  100



เนื่องจากปีก่อนหน้าไม่มียอดค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญยกมา จำนวนที่ตั้งเพิ่มจึงลงเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด 500

หากงวดนั้นเก็บเงินสดได้ 1200

เงินสด   +           ล/น ค่าเผื่อหนี้

(900+1200) +     (2100 -1200 -500)           =  2400 +100

2100 +  (900 - 500)                                    =  2500

งวดใหม่ต่อมาขายสินค้า 4000 เป็นเงินเชื่อทั้งหมด สินค้าซื้อเป็นเงินเชื่อมา 2800 และขายหมด

 ง/ส  +  (ล/น ค่าเผื่อ)  + ส/ค =  เจ้าหนี้การค้า + ทุน + กำไรสะสม + กำไรของงวด

2100 + (900 +4000 -500) – 2800 +2800 = 2800+ 2500 + (4000 – 2800) หักสินค้าเป็นต้นทุนขาย

2100 + 4400     =   2800 + 2500+ 1200

6500                          =  6500

ล/น 4400 ต้องมาประเมินว่ามีหนี้ที่อาจจะเก็บไม่ได้ เท่าใด สมมติว่าประเมินเป็น 800 สำหรับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ

ง/ส  +  (ล/น ค่าเผื่อ)  =  จ/น + ทุน + กำไรสะสม + กำไรของงวด

2100 + 4900 – (500+300)  = 2800 +2500+ 1200 -300

2100  +  4100                  = 2800 + 2500 + 900

6200                                 = 6200

ส่วนที่เพิ่มขึ้นของค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 300 คือ ค่าใช้จ่ายของงวดหนี้สงสัยจะสูญนั่นเอง

ถ้ามองให้ดีจะเห็นว่าหากไม่อยากให้กำไรกระทบมาก กิจการก็ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้น้อยๆ เพื่อให้ส่วนเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง กำไรก็เพิ่มแล้ว บางคนถามว่า ถ้าตั้งน้อยลงละ ก็เกิดการกลับรายการนั่นเอง (บวกกลับหรือโอนกลับ) ซึ่งการโอนกลับนี้เกิดได้ทั้งหนี้เสียลดลงจริงหรือตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง

วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ทำไมธุรกิจการเงินถึงควรหยุดรับรู้ดอกเบี้ยเมื่อเกินสามเดือน


ทำไมธุรกิจการเงินถึงควรหยุดรับรู้ดอกเบี้ยเมื่อเกินสามเดือน ไม่ใช่เพียงธนาคารครับ แต่ผมคิดว่า ลิสซิ่ง เช่าซื้อ หรือแม้แต่พวกซื้อหนี้เน่าจากสถาบันมาบริหารก็เช่นกัน คนไม่เข้าใจบัญชีก็สนุกสนานกันไปเมื่อธุรกิจพวกนี้ (ยกเว้นธนาคาร) แสดงกำไรสูงๆ



การหยุดรับรู้รายได้เมื่อค้างจ่ายมาเกินสามงวด สำคัญมาก บริษัทใดมีนโยบายหยุดรับรู้เกินสามเดือนต้องระวังครับว่ากำลังตกแต่งรายได้ สร้างกำไรเทียม อันนี้พบใบบริษัทลีสซิ่งบางแห่งครับ ส่วนบริษัทซื้อหนี้เน่าจากสถาบันมาบริหารก็สร้างรายได้เทียมได้ง่ายมาก



ตามปกติหลักบัญชีใช้การลงรายการด้วยเกณฑ์สิทธิ์ หรือเกณฑ์คงค้าง (Accrual Basis) ซึ่งต้องมีการบันทึกรับรู้รายได้เมื่อควรต้องเกิดตามงวดเวลา และสินทรัพย์ (ลูกหนี้หรือรายได้ค้างรับ) ขึ้นในงวดที่นำเสนองบการเงิน คือ

(1)    เดบิต ดอกเบี้ยค้างรับ/ดอกผลค้างรับ

 __________เครดิต  รายได้/ดอกเบี้ยรับ/ดอกผลรับ



ทุกครั้งที่ปิดบัญชีงวดหรือเดือน จะต้องรับรู้รายได้ขึ้น รายการดังกล่าวยังไม่ได้จ่ายเงินสด ระหว่างงวด เมื่อรับเงินสดจะบันทึกโดย

(2)    เดบิต เงินสด

____ดอกผลรอตัดบัญชี

________________เครดิต ลูกหนี้เงินกู้ยืม

______________________ดอกเบี้ยค้างรับ/ดอกผลค้างรับ

______________________ดอกเบี้ยรับ/ดอกผลรับ

จะเห็นว่าเมื่อรับเงินสด ดอกเบี้ยรับที่เห็นก็คือเงินสดที่เกิดจิงหรือเกิดจากการตั้งรับรู้เมื่องวดก่อนหน้า ซึ่งก็ปกติ แต่สังเกตให้ดี ใน (1) ถ้าตั้งขึ้นแล้วไม่เกิด (2) ขึ้น ลูกหนี้ยังไม่จ่าย ยอดค้างรับก็จะบวกยอดสะสมไปในสินทรัพย์ (ลูกหนี้เงินกู้ยืม) กิจการที่หยุดรับรู้ดอกเบี้ย/ดอกผล เกิน 3 เดือน NPL ก็จะรับรู้เมื่อยอดค้างชำระเกิน 3 เดือนเช่นกัน จะเห็นว่า รายได้ก็รับรู้เกิน ขณะเดียวกัน NPL และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญก็จะต่ำไป การหยุดรับรู้รายได้ดอกเบี้ยเมื้อลูกหนี้ค้างเกินกว่า 3 เดือน จะไม่เกิดกระบวนการที่ (1) และเมื่อลูกหนี้นำเงินมาชำระก็จะตัดยอดคงค้างจนหมดก่อน ในกระบวนการที่ (2) จึงจะรับรู้รายได้ ถ้าจ่ายที่ค้างไม่หมด รายได้ก็จะยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นกิจการที่ตรงไปตรงมาจะเกิดตามกระบวนการที่บอกมาข้างต้น ธนาคารถูกตรวจสอบและควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) แม้ไม่ทำโดยตรงบางเรื่องแต่ก็ควบคุมกระบวนการตรวจสอบภายในซึ่งต้องเป็นไปโดยมาตรฐาน แต่ลีสซิ่ง เช่าซื้อ บริษัทบริหารหนี้ มาอยู่ภายใต้การตรวจสอบโดยหน่วยงานใด กลต. และตลาดไม่ใช่หน่วยงานตวจสอบโดยตรง แค่กำกับห่างๆ กลต. ดูตลาดแรก IPO ตลาดฯ ดูตลาดรอง ด้านการซื้อขาย ยกหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินให้ผู้สอบบัญชี ผู้สอบก็ดูว่ามตาฐานว่าอย่างไรก็ทำเท่านั้น และมาตรฐานไม่ได้ระบุว่าต้องหยุดเมื่อใด มีเพียงประกาศจากตลาด อันนั้นไม่ใช่มาตรฐาน ไม่ทำตาม งบก็ยังถูก จึงเห็นว่ามีบางบริษัททำนอกเหนือบ้าง ดังนั้นเวลาดูงบต้องเข้าใจให้ดีว่าเกิดผลกระทบอย่างไร สำหรับลีสซิ่ง เช่าซื้อ แฟคเตอริ่ง



ต่อมาก็ซื้อหนี้เน่าจากสถาบันมาบริหาร รายได้รับรู้น่ากังวลมาก คือ รายได้คำนวณจากเงินลงทุนในลูกหนี้ ตามอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราผลตอบแทนในการเก็บหนี้ที่คาดว่าจะได้รับ) คำนวณกับยอดเงินลงทุนในลูกหนี้คงเหลือ ถ้าดูจากที่แสดงในหมายเหตุเรื่องที่น่ากังวลคือรายได้คำนวณจากเงินลงทุนในลูกหนี้ ถ้าลูกหนี้เก็บเงินได้ตามปกติตามแผน ก็ไม่มีปัญหา จะเกิดอะไรขึ้นถ้าลูกหนี้ไม่ชำระเงินตามแผนจัดเก็บ ยอดเงินลงทุนในลูกหนี้จะไม่ลดลง (สมมติไม่มีเงินลงทุนในลูกหนี้เพิ่ม) เมื่อคูณด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราผลตอบแทนในการเก็บหนี้ที่คาดว่าจะได้รับ) รายได้ก็จะสูงขึ้น รายได้ถูกคิดซ้ำซ้อนหรือไม่ และที่สำคัญเงินลงทุนในลูกหนี้นี้ไม่มีการแยกอยุการเรียกเก็บหนี้ที่ควรแยกไว้ตามแผนการเก็บหนี้ที่คาดว่าจะได้รับ เพราะหากเก็บเงินลูกหนี้เงินลงทุนไม่ได้ตามแผน รายได้ก็รับรู้ไปตลอดโดยที่กระแสเงินสดรับไม่ได้จริงตามแผน ผลกระทบที่เกิดคือ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราผลตอบแทนในการเก็บหนี้ที่คาดว่าจะได้รับ) ตามแผนควรต้องลดลงไปไม่ใช่คงที่ไปตลอด ส่วนตัวผมยังคิดว่าเงินลูกหนี้เงินลงทุน คือหนี้ที่ด้อยคุณภาพย่อมเก็บยากอยู่แลเว ถ้าเก็บง่ายจ่ายง่าย คงไม่เป็นหนี้เน่าธนาคารให้ถูกขายง่ายๆ หรอกครับ ถ้าสินทรัพย์ดีมีคุณถาพแล้ว ธนาคารจะขายทำไม แล้วจะมาเป็นรายได้ที่ดีกับธุรกิจรับซื้อหนี้เสียได้อย่างไร พอผมเห็นเกณฑ์การรับรู้รายได้ และไม่พบการแยกอายุการจัดเก็บ บอกได้คำเดียวหนาวครับ



สองกลุ่มธุรกิจที่กล่าวจึงควรระมัดระวังการรับรู้รายได้ให้ดีในการวิเคราะห์นะครับ บางบริษัทก็ดีอยู่แล้ว บางบริษัทต้องอ่านดีๆ ดูให้เป็น

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559

Perpetual Bond ควรเป็น Equity หรือไม่ รูปแบบการ Creative Accounting – Classification ที่มาตรฐานการบัญชียอมให้ทำเพราะนักบัญชีไม่รู้จริงด้านการเงิน


Perpetual Bond ควรเป็น Equity หรือไม่ รูปแบบการ Creative Accounting – Classification ที่มาตรฐานการบัญชียอมให้ทำเพราะนักบัญชีไม่รู้จริงด้านการเงิน



การทำ Creative Accounting มีมากมายหลายรูปแบบ ผมนำเสนอไปหลายครั้ง หลายบทความพอสมควร เรื่อง Creative Accounting นี้มีทำกันอยู่เรื่อยๆ ส่วนมากมักจะเป็นรูปแบบที่ผิดหลักบัญชี เพื่อสร้างรายได้หรือกำไรบริษัทสูงเกินกว่าความจริงโดยหวังผลให้ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น



ระยะหลังรูปแบบการทำ Creative Accounting เปลี่ยนไปโดยไม่เน้นการสร้างกำไรโดยตรง แต่เป็นการทำ Classification หรือการจัดประเภทเพื่อให้เกิดผลทางบวกในการวิเคราะห์ เช่นย้ายเงินลงทุนเผื่อขายเป็นเพื่อค้า เนื่องจากในภาวะหุ้นบวก ผลกำไรจากการเปลี่ยนแปลงราคาจะบันทึกเป็นรายได้ในกำไรขาดทุนของงวดทันทีในงวดนั้น (ท่อนบน) EPS จะเพิ่มขึ้นทันที เพราะถ้ายังเป็นเงินลงทุนเผื่อขายผลต่างจะบันทึกในส่วนกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (ท่อนล่าง) รายการนี้ได้ทำไปแล้วในบริษัท Polar ของงวดบัญชี 31 มีนาคม 2558 ทำให้กำไรบริษัทเพิ่มแบบกระโดด ราคาจาก 0.5 ขึ้นไป 0.6 โดยมีปริมาณการซื้อขายที่หนาแน่นในช่วงใกล้ปลายไตรมาสแรก หลังจากนั้นราคาหุ้นก็ปรับลดลงมาโดยตลอด คนที่ซื้อหุ้นโดยหว้งผลเพียงข่าวกำไรก็มีคนติดหุ้นราคา 0.6 บาทจำนวนหนึ่งไม่น้อย



นั่นเป็นเพียงอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งในด้านบัญชีแล้วไม่ผิดอะไรเลย แต่คนที่เข้าใจจะรู้ว่าไม่เกิดอะไรกับธุรกิจในระยะยาวเลย แต่ในตลาดหุ้นมีคนรู้น้อยกว่าคนไม่รู้มาก จึงมักมีคนติดดอยมากทุกครั้ง



ล่าสุดก็มีการทำ Creative Accounting – Classification ขึ้น ความจริงมีการทำเช่นนี้มาหลายบริษัท แต่ยอดหรือจำนวนไม่มาก อีกบริษัทขายหุ้นกู้แบบนี้ในต่างประเทศ ถือว่ากองทุนเหล่านั้นมีวิจารณญาณ ต้องคิดเป็นแล้ว และปกติในต่างประเทศเขามักจะปรับข้อมูลในงบดุลเองไม่ได้ใช้ที่นำเสนอเสมอ



รายการนี้คือการออก Perpetual Bond หรือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวมีจำนวน 1 หมื่นล้านบาท โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ครั้งนี้ ขณะที่ก่อนหน้านี้ ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จัดอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของซีพี ออลล์ ที่ BBB ด้วยขนาดการระดมทุนที่สูง และบางส่วนเสนอขายต่อสถบันและบุคคลทั่วไป ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดและมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และผู้ออกมีสิทธิเรียกไถ่ถอนก่อนกำหนด เป็นการออกครั้งที่ 1 แสดงว่ายังมีต่อมาอีกหลายล็อต



ผมคงไม่วิจารณ์เรื่องอัตราดอกเบี้ย เพราะเป็นเรื่องของตลาดกำหนดตามความพึงพอใจกันเองตามภาวะตลาด แต่จะให้มุมมองทางวิชาการว่าตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้ ควรถือเป็นส่วนทุนหรือหนี้ ในความเห็นผมควรจัดเป็นหนี่สินครับ ต่างจากทางบัญชีที่นำเสนอซึ่งหากมองในแง่หลักวิชาการโดยนำความรู้ทางการเงินประกอบแล้ว ต้องควรเป็นหนี้สินเท่านั้นไม่ใช่ทุน



ก่อนไปกล่าวถึงประเด็นว่าควรเป็นหนี้หรือทุน ผมอยากตั้งคำถามที่อยากให้ลองคิดตาม คือ

1. การออกตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้ แท้จริงแล้ว Leverage ลดลงหรือไม่

2. การออกตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้ ดอกเบี้ยจ่าย ตัดออกหมดหรือไม่ ยังต้องเกิดดอกเบี้ยอยู่ใช่หรือไม่

3. การออกตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้ เป็นตราสารหนี้ด้อยสิทธิ มีสิทธิการ Claim เท่าหรือน้อยกว่า และก่อนหุ้นบุริมสิทธิ์กับหุ้นสามัญหรือไม่



เหตุผลทางหลักวิชาการที่ควรจัดเป็นหนี้สินมีข้อพิจารณาดังนี้

1. การออกตราสารหนี้ที่เมื่อจ่ายดอกเบี้ย ดอกเบี้ยจะทำให้เกิด interest tax shield ขึ้นซึ่งในหลักการเงินตามทฤษฎีของ MM Proposition II กรณีมี Tax rate

    V firm = PV of Equity + PV int. tax shield – PV of bankruptcy cost

ดังนั้นหากตราสารใดที่ต้นทุนการเงินสามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว จะถือเป็น Debt ทั้งนี้ มูลค่ากิจการเพิ่มขึ้นจากทฤษฎีของ Modigliani and Miller (MM) กรณีมีภาษีคือ PV int. tax shield ที่เกิดจากดอกเบี้ยจ่ายใน Debt

2. Maturity date แม้ไม่กำหนดวันไถ่ถอน แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นชี้ขาดว่าควรเป็นส่วนทุน (Equity) ถ้ากำหนดอายุสัก 300 ปีจึงไถ่ถอน ยังจะถือเป็นหนี้สินหรือทุน

3. หุ้นกู้ด้อยสิทธิโดยทั่วไป (Subordinate Bond) ที่มีอายุ แต่สิทธิการเรียกร้องใดๆไม่มี ฟ้องก็ไม่ได้ เมื่อเลิกกิจการก็ได้หลังสุด ได้เท่าที่เหลือหลังคืนหนี้ที่มีสิทธิเหนือกว่ารับชำระหมดไปก่อน ตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้ก็ไม่ต่างกันเลยแม้แต่น้อย ทำไมหุ้นกู้ด้อยสิทธิโดยทั่วไป (Subordinate Bond) ที่มีอายุ จึงถูกจัดเป็นหนี้สินในงบแสดงฐานะการเงิน และนำไปคำนวณใน D/E ส่วนตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้กลับไปไว้ในส่วน Equity ทำให้นักลงทุนหลงผิด D/E ลดลงเพราะ Equity เพิ่มขึ้น



ที่กล่าวในตอนต้นว่าบางบริษัท (เช่น PTEP) ออกตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้ในต่างประเทศผมไม่ค่อยกังวลเพราะเขาจัดงบดุลใหม่ถือเป็นหนี้ครับ แต่นักลงทุนไทยผมไม่แน่ใจจึงห่วงจะหลงผิดวิเคราะห์งบกันง่ายๆ ตามตัวอักษร จะว่าไปบริษัทบอกแล้วในหนังสือชี้ชวน แต่จะมีใครอ่านหรืออ่านแล้วเข้าใจหรือไม่



การไถ่ถอนก่อนกำหนด ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ออกหุ้นกู้แต่เพียงผู้เดียวที่จะไถ่ถอนหุ้นกู้ตามแต่จะเห็นสมควรโดย ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิที่จะไถ่ถอนหุ้นกู้ทั้งจำนวน ก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ได้เมื่อเกิด กรณีดังต่อไปนี้

(ก) วันครบกำหนด 5 ปี นับ จากวันออกหุ้นกู้ ซึ่งคือวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 หรือวันชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้แต่ละครั้งภายหลังจากปีที่ 5 แปลความง่ายๆ ไถ่ถอนได้โดยผู้ออกหลัง 5 ปีได้ทุกเมื่อ

ข) ผู้ออกหุ้นกู้ไม่หรือจะไม่สามารถนำดอกเบี้ยที่ชำระให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้มาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยของผู้ออกหุ้นกู้ได้ทั้งจำนวน แปลง่ายๆ ดอกเบี้ยต้องเอามาหักภาษีได้ เกิด interest tax shield อันนี้ผู้รับต้องถือเป็นรายได้ ไม่มีการคำนวณเครดิตภาษีแบบเงินปันผล

(ค) ได้มีการเปลี่ยนแปลงในวิธีการ จัดอันดับของหุ้นกู้หรือการตีความในวิธีการจัดอันดับของหุ้นกู้โดยสถาบันจัดอันดับ ความน่าเชื่อถือ ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้สามารถนับหุ้นกู้ที่ออกนี้เป็นเครดิตตราสารทุน (equity credit) ของผู้ออกหุ้นกู้ได้น้อยลง กว่าที่ผู้ออกหุ้นกู้สามารถนับได้ก่อนหน้า การเปลี่ยนแปลงในวิธีการจัดอันดับของหุ้น กู้หรือการตีความในวิธีการจัดอันดับ ดังกล่าว หรือไม่สามารถนับหุ้นกู้ที่ออกนี้ เป็นเครดิตตราสารทุน (equity credit) ของ ผู้ออกหุ้นกู้ได้เลยไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ หรือ

(ง) ได้มีการเปลี่ยนแปลงในหลักการบัญชีที่ ผู้ออกหุ้นกู้ต้องปฏิบัติตาม ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้ สามารถนับหุ้นกู้ที่ออกนี้เป็นส่วนของผู้ถือ หุ้นของผู้ออกหุ้นกู้ได้น้อยลงกว่า ณ วันออก หุ้นกู้หรือไม่สามารถนับหุ้นกู้ที่ออกนี้เป็นส่วน ของผู้ถือหุ้นของผู้ออกหุ้นกู้ได้เลยไม่ว่าด้วย เหตุผลใด ๆ ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดใน ข้อกำหนดสิทธิ ข้อ ค) กับ ง) นี้ กำลังบอกว่าถ้าบัญชีจัดเป็นอย่างอื่นไม่ไว้ในส่วน equity จะไถ่ถอนนะ ข้อนี้บ่งชี้ว่าความจริงตราสารนี้สามารถหรือสภาพตัวมันเป็นหี้ แต่เพียงนิยามทางบัญชีเอาไว้ในส่วนทุนเท่านั้น หากนักลงทุนที่ชาญฉลาด รู้จักป้องกันตัว เป็น Risk Averse  แล้ว จะจัดเป็นหนี้ เพราะการถูกไถ่ถอนคืน คือการมี maturity date โดยอ้อม ต่างกับการซื้อหุ้นคืน คนถือหุ้นไม่ชอบก็ขาย ชอบก็ถือไม่มีใครบังคับนอกจากตัวเอง แต่การถูกไถ่ถอน เราไม่อยากก็ถูกบังคับได้ เป็น Put Option

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ค่าที่นิ่ง แสดงว่าไม่ผันผวน บอกอะไรเกี่ยวกับบริษัท


ค่าที่นิ่ง แสดงว่าไม่ผันผวน บอกอะไรเกี่ยวกับบริษัท

             ROAOM*AT ประสิทธิภาพการลงทุนดี รักษาการทำไรดี มี organic growth ในตัว

             ROE – NM*AT*(1+D/E) ประสิทธิภาพการลงทุนดี รักษาการทำไรดี  รักษาระดับการก่อหนี้คงที่

             AT – ประสิทธิภาพการลงทุนดี ตัดสินใจลงทุนดี เหมาะสม customer มี loyalty

             D/E – มีความเข้มแข็งในด้าน solvency มีเครดิตการค้า การกู้ยืมกับสถาบันการเงินดี

             GM – ควบคุมต้นทุนผลิตดี ระบบการผลิตดี  (จัดซื้อและผลิต/โรงงาน)

             OM – ควบคุมค่าใช้จ่ายดี ระบบงบประมาณดี ระบบการควบคุมภายในดี

             NM – ระบบการควบคุมภายในดี ควบคุมต้นทุนการเงิน+ภาษีดี ไม่มีกำไร one-time มากและบ่อย

             ART – มี customer portfolio ดี ล/ค มี Loyalty ต่อสินค้า ต่อธุรกิจ

             IT - ระบบการจัดซื้อผลิต/โรงงาน และ ฝ่ายขายดี ซื้อดี ผลิตดี ขายคล่อง

             APT – มี Bargaining Power of Suppliers

ในการประเมินมูลค่าหุ้น ทำไม P/E ถึงใช้แทน DCF ได้


ในการประเมินมูลค่าหุ้น ทำไม P/E ถึงใช้แทน DCF ได้

นักลงทุนจำนวนมาก ยังสับสนและไม่แน่ใจว่าราคาหุ้นควรใช้ P/E หรือไม่ และบางคนก็ไปมุ่งทำ DCF (Discount Cash Flow) และนักวิเคราะห์จำนวนมากก็ชอบทำ DCF เพราะดูขลังดี ดูแล้วน่าเชื่อถือ ในมุมมองผมแล้ว DCF หลักการดี แต่มั่วตัวเลขตัวเลขง่ายที่สุด แต่งตัวเลขหลอกง่ายที่สุด โดยถ้าคนไม่รู้จริงถูกหลอกง่ายที่สุด เรื่องนี้ คนที่เรียนกับผมคงเข้าใจ แต่คนที่ยังไม่เรียนอาจงงๆ ผมเองเชื่อในหลักการ DCF แต่ไม่ใช้ เพราะยากมากที่เราจะรู้ว่าปีไหนจะมี GM OM NM เท่าไร จะโตมากโตน้อย กู้มากกู้น้อย เราทำได้ดีที่สุดเพียง คาดการณ์กว้างๆ คร่าวๆ เพียงน่าจะได้ค่าๆ หนึ่ง แล้วกำหนดให้คงที่ระยะยาว

    ถ้าประมาณโดยใช้หลักการคงระดับประสิทธิภาพไว้ เช่น GM OM NN Turnover ต่างๆ ตลอดจน D/E แล้ว FCF จะคงที่และเพิ่มตามการเติบโตของยอดขาย เพราะ เนื่องจาก GM OM NM คงที่

    NWC (ทุนหมุนเวียนสุทธิที่เพิ่มหรือลด) ก็จะคงที่ด้วย เพราะเมื่อเก็บเงินรอบเท่าเดิม รอบสินค้าก็เท่าเดิม ยอดขายเปลี่ยน สัดส่วนต่างก็จะเปลี่ยนตาม

    ที่ยอดขายเท่ากับ  X  และมีนโยบายการให้เครดิตขายเชื่อเฉลี่ยราว a วัน 

   AR = a*X/360 ถ้ายอดขาย X โต Dg ---- >   DAR= a*DX/360

    ในทำนองเดียวกันกับการหาสินค้าคงเหลือและเจ้าหนี้การค้า ถ้า หมุนสินค้าฯ b วัน จ่ายเจ้าหนี้เฉลี่ย c วัน จะได้

    DINV= b*DX*(1-GM)/360

    DAP  = c*DX*(1-GM)/360

    การเปลี่ยนแปลงใน DNWC =  -a*DX/360 - b*DX*(1-GM)/360 + c*DX*(1-GM)/360 คือสูตรสำเร็จรูปของการเปลี่ยนแปลงทุนหมุนเวียนสุทธิที่เพิ่มหรือลด

    จากที่กล่าวมา จะเห็นว่า a, b, c, GM คือตัวแปร หากกำหนดคงที่ระยะยาว DX คือ % คือการเติบโตยอดขาย

     กำไรในรูป CFO ก็เปลี่ยน ตามกำไรสุทธิ ยอมไปในทางเดียวกับ EPS และ DPS

    CAPEX ก็เช่นกัน ถ้า AT คงที่ ทุกครั้งที่ยอดขายเพิ่ม การลงทุนก็ต้องมีตลอดเวลา กำไรมี Depreciation ใน CFO ก็จะมี capital maintenance

    จากที่กล่าวมา จะเห็นว่า a, b, c, GM คือตัวแปร หากกำหนดคงที่ระยะยาว DX คือ % คือการเติบโตยอดขาย

    กำไรในรูป CFO ก็เปลี่ยน ตามกำไรสุทธิ ยอมไปในทางเดียวกับ EPS และ DPS

     CAPEX ก็เช่นกัน ถ้า AT คงที่ ทุกครั้งที่ยอดขายเพิ่ม การลงทุนก็ต้องมีตลอดเวลา กำไรมี Depreciation ใน CFO ก็จะมี capital maintenance

    DCF Model:  FV = FCF/WACC  --- > P = D/k …… no growth model

     FCF = EBITDA – DNWC – CAPEX

     If no growth DNWC = 0 ไม่มี AR Inventory AP เพิ่ม เพราะขายไม่เพิ่ม

    เก็บเงินคงที่ สินค้าหมุนเวียน ผลิตคงที่ จ่ายหนี้การค้าคงที่

     CAPEX = Depreciation ลงทุนเท่าค่าเสื่อม à แค่รักษาระดับกำลังการผลิต capital maintenance / no new investment to expansion

    FCF = EBITDA - 0 - Depreciation = EBIT

    จาก FCF/WACC = FV = Value of Debt + Value of Equity

    FV = Vd  + Ve  = Int/rd  +  NI/re

   NI/re  =  EPS/k  = P --- >  P/E = 1/k

    P/E จึงบอกว่านักลงทุนจะคืนทุนในเวลากี่ปี ถ้าจ่ายกำไร 100% ของกำไร หรือบอกว่าผลตอบแทนการลงทุนเป็นเท่าไร (1/k) (จ่าย b = 100%)

    P/E = 10  --- > return = 10%

     ถ้ามี growth:   P/E =  b /(k-g)

    เราอาจตีความได้ว่าส่วนกลับของ P/E คูณอัตราจ่ายปันผลคือ Dividend Yield

    สำหรับคนทำ DCF หากไม่กำหนดค่าให้นิ่ง คำถามคือรู้ได้อย่างไรว่าปีต่อไปจะเปลี่ยน แล้วเปลี่ยนปีไหน ทำไมต้องปีนั้น

   การลงทุนใน CPEX ก็เช่นกัน ทุกอย่างหากไม่ตั้งสมมติฐานจากปัจจุบัน และผลงานในอดีตแล้ว ประสิทธิภาพที่ดีขึ้นมาเกิดจากอะไร

   ประสิทธิภาพผูกโยงกับ Corporate Culture องค์กรที่มีประสิทธิภาพมักจะสะท้อนผ่าน ค่า b กิจการที่มีประสิทธิภาพ ค่า b  มักจะใกล้เคียงตลาด

  ดังนั้นการประเมินมูลค่าหุ้นด้วย P/E ไม่ว่าจะมี growth หรือไม่มี เรากำลังกำหนดอนาคตว่าสิ่งที่จะทำได้ในอนาคต จะไม่แตกต่างจากค่าเฉลี่ยที่เคยทำมา คนที่เรียนกับผมมาจะรู้ว่าผมย้ำเสมอเรื่องความนิ่งของอัตราส่วนต่างๆ ยิ่งนิ่งยิ่งดี หากไม่นิ่งราคาหุ้นจะยิ่งผันผวน หุ้นที่ดีค่าอัตราส่วนต่างๆควรต้องนิ่ง (วิธีการวัดความนิ่งคนเรียนกับผมทบทวนด้วย ไม่ลืมนะครับ)

    ประเด็นนี้ก็เชื่อมโยงไปว่าทำไมราคาหุ้นเราต้องติดตามอย่างน้อยปีละครั้ง ไม่ต้องทำทุกวัน แต่ไม่ใช่ทำวันนี้แล้วจบ ทำไม risk free rate ตำราจริงๆ (Text Book) ที่เรียน เขาใช้ T-Bill (1 ปี) ไม่ใช้T-Note ที่อายุเกิน 1 ปี (เช่นมีบางคนแนะให้ใช้ 15-20 ปีไม่จำเป็นเลยครับ)  บางคนอาจค้าน แต่คนมาเรียนกับผมได้ชี้แจงกันในชั้นเรียนแล้ว ความรู้ผมกลมและเชื่องโยงกันทุกประเด็นครับ จำไว้นะครับ หุันดีต้องนิ่ง ยิ่งนิ่งจะโตได้ยาวราคาไม่แกว่ง

วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

Tax Shield คืออะไร

มีคนถาม Tax Shield คืออะไร
Tax Shield คือประโยชน์ที่ได้ทางภาษีที่จ่ายน้อยลงจากรายจ่ายนั้นเอง เช่น บริษัทมีรายได้ก่อนหักค่าเสื่อมและภาษี 300 ลบ. อัตราภาษี 22% มีค่าเสื่อมราคา 100 ลบ. สมมติไม่มีหนี้ ไม่มีดอกเบี้ยจ่าย
EBITDA_______________300
Depreciation ___________-100
EBT___________________200
Tax 22%________________-44
NI_____________________156
ถ้าไม่มีค่าเสื่อมเกิดขึ้น บริษัทต้องจ่ายภาษี 300x22% = 66 แต่เมื่อมีการหักค่าเสื่อมฯ 100 จ่ายภาษีเพียง 44
ภาษีที่จ่ายน้อนลงนี้ 22 เรียกว่า Tax Shield = 100x22% = 22
Tax Shield = ค่าใช้จ่าย x อัตราภาษี พูดง่ายๆคือรายจ่ายทุก 100 บาท ให้ภาษีที่ต้องเสียภาษีลดลงจากภาษีที่เกิดจากรายได้ก่อนรายจ่ายนั้น 22 บาท
จากตัวอย่างข้างต้นสมมติมีอีกดอกเบี้ยจ่าย 50 บาท บริษัทจะเหลือกำไรเท่ากับ 156-50 = 106 แต่จะมีกำไรดังนี้
EBITDA________________300
Depreciation ___________-100
ดอกเบี้ยจ่าย______________-50
EBT___________________150
Tax 22%________________-33
NI_____________________117
ภาษีจ่ายลดลงอีกจาก 44 เหลือ 33 ลดลง 11 บาท ทุกๆรายจ่ายที่เกิดขึ้น กำไรลดลงแต่ภาษที่จะจ่ายก็จะลดลงด้วยเช่นกัน ถ้าเขียนเป็นสมการง่ายๆ
NI = Sales – Exp - (Sales – Exp) x t = (Sales – Exp) x (1-t) = Sales – Exp - (Sales x t) + (Exp x t)
Total tax exp = ภาษีทั้งหมดจากรายได้ (Gross) + Exp x t
บริษัทมีรายได้จากการขาย 1,000 ต้องเสียภาษี = 1,000 x t
มีรายจ่ายทั้งหมด 800 จะได้ tax shield = 800 x t
ถ้าภาษีเท่ากับ 25%
ภาษี = -1000x0.25 + 800x0.25 = -250 + 200 = -50
Prove:
Sales____________1000
Exp_____________-800
EBT_____________200
Tax 25%__________-50
NI_______________150
ความจริงเรื่อง Tax Shield มักจะมีกล่าวมากในวิชาการเงินมากกว่าทางด้านบัญชี
Depreciation Tax Shield ประโยชน์ทางภาษีที่เกิดจากค่าเสื่อมราคา เป็นรายจ่ายทางบัญชีที่ไม่ได้จ่ายเป็นงินสด แต่ทำให้ค่าใช้จ่ายทางภาษีลดลง = Depreciation Exp. X Tax rate
Interest Tax Shield ประโยชน์ทางภาษีที่เกิดจากดอกเบี้ย ทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยที่เป็นเงินสดจ่ายออกลดลง = Interest Exp. X Tax rate ทำให้ในสูตร WACC = D/(D+E) * (rd) *(1-t) + E/(D+E) * re

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559

การไซฟ่อนเงิน ตอนที่ 2


การไซฟ่อนเงิน ตอนที่ 2

ต้องยอมรับว่าการดูข้อมูลเพื่อบอกว่าบริษัทไซฟ่อนหรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย รวมถึงบางเรื่องต้องใช้เวลายาวนาน และเข้าใจทางการบัญชีพอควร แต่มีไฟย่อมมีควัน ดังนั้นเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น อย่างน้อยต้องมีเงื่อนพอให้สืบค้นเรื่องราวต่อไปได้บ้าง คำแนะนำเบื้องต้นให้สัญญาณต่างๆ มีดังนี้

1. จับสัญญาณจากงบการเงิน โดยอาศัยวิเคราะห์อัตราส่วนจากข้อมูลในงบการเงิน หรือแม้แต่ความเห็นของผู้สอบบัญชี เช่นถึง แม้ผู้สอบบัญชีจะรับรองว่างบการเงินถูกต้อง แต่มีการตั้งข้อสังเกตบางอย่าง (รายงานผู้สอบบัญชีให้ข้อสังเกต ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในรายงาน เดิมบางผู้สอบบัญชีก็มีเขียนรายงานอยู่แล้ว) อันนี้ต้องดูรายละเอียดว่า ผู้สอบบัญชีกำลังบอกอะไร เช่น ผู้สอบบัญชีอาจบอกว่า บริษัทมีการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันเป็นจำนวนมากด้วยข้อความหน้างบว่า “โดยมิได้เป็นการแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขต่องบการเงินข้างต้น ข้าพเจ้าขอให้สังเกตหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 3 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายการค้าระหว่างบริษัทและบุคคลที่เกี่ยวข้องกันเป็นจำนวนมาก และในระหว่างปีบริษัทมีการรับคืนสินค้า เนื่องจากสินค้าเสียหาย” เป็นต้น

สัญญาณที่จะสะท้อนว่างบการเงินมีปัญหา จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อความเห็นของผู้สอบบัญชีออกแนวเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ ได้แก่ การแสดงความเห็นต่องบการเงินนั้นแบบมีเงื่อนไข เช่น บอกว่าถ้าไม่นับเรื่องนี้แล้ว งบการเงินที่เหลือถูกทั้งหมด หรือการบอกว่า ไม่อาจแสดงความเห็นต่องบการเงินได้ เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงขั้นที่แรงสูงสุด คือ บอกว่างบการเงินนั้นไม่ถูกต้อง

2. ข้อมูลการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน ไม่ใช่ว่าการที่บริษัททำรายการเหล่านี้จะไม่ดีเสมอไป  แต่มีเพียงบางกรณีที่ถูกใช้เป็นช่องทางถ่ายเทผลประโยชน์ได้ ดังนั้น ในฐานะผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทคนหนึ่ง  ควรรักษาประโยชน์ของตนเอง โดยเข้าไปดูว่าการทำรายการนั้นมีประโยชน์อะไรบ้างต่อบริษัท มีความสมเหตุสมผลไหม ที่สำคัญคือ ราคามีความเป็นธรรม สมเหตุสมผลหรือไม่ หรือมีเงื่อนไขอย่างไร ทำให้บริษัทเสียประโยชน์หรือไม่ มีหลายกรณีที่รายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทดูน่าสงสัย แต่ก็ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ถือหุ้นที่ไม่เห็นด้วย ไม่ได้เข้าประชุมเพื่อใช้สิทธิโหวตคัดค้าน หรืออาจไม่เข้าใจ จึงไม่ให้ความสนใจตรงนี้

3. ควรติดตามว่าบริษัทได้ทำอะไรที่ไม่ใช่ธุรกิจปกติหรือไม่ เช่นธุรกิจหลักของบริษัทไม่ได้เป็นธนาคาร แต่ทำไมชอบปล่อยกู้เสียจริงหรืออาจให้สินเชื่อการค้า แล้วต่อมาก็มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญ เราควรติดตามดูรายการเหล่านี้ว่าบริษัทมีมาตรการอย่างไร มีการวิเคราะห์ความสามารถของลูกหนี้ในการชำระคืนเงินกู้หรือไม่ หรือบางทีบริษัทไปลงทุนในอะไรใหม่ๆ ที่บริษัท ไม่มีความรู้ความชำนาญมาก่อน ต้องดูว่ามีความสมเหตุสมผลไหม  

4. พิจารณาว่าบริษัทมีระบบการควบคุมภายในที่ดีพอหรือไม่ เช่น ให้บุคคลคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจลงนามโดยไม่มีระบบคานอำนาจ ก็เป็นช่องทางให้เกิดการไซฟ่อนได้ง่าย หรือหากระบบควบคุมภายในไม่ดีก็ทำให้เกิดการรั่วไหลของทรัพย์สินได้ง่ายเช่นกัน ตัวช่วยบอกสัญญาณในเรื่องนี้ก็มาจากรายงานผู้สอบบัญชี อัตราส่วน turnover ต่างๆ ผันผวนสูงๆ สม่ำเสมอ



บริษัทที่จะลงทุนถ้าหากส่งสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักว่าอาจมีการไซฟ่อน ไม่ผิดถ้าคุณจะถอยหลังออกมา เพราะยังมีหุ้นตัวอื่นๆ ให้เลือก จำไว้ว่าการลงทุนในหุ้น ถึงแม้จะดี ก็มีความยังเสี่ยงในการลงทุนตามปกติอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องเพิ่มความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่น่าสงสัยว่าจะมีการไซฟ่อนอีก บางคนสนใจทำกำไรเพียงสั้นๆไม่กี่วัน ไม่กี่สัปดาห์ไม่กี่เดือน ถ้าติดหุ้นก็ต้องทำใจยอมรับ cut loss เพราะบางทีอาจใช้เวลานานกว่าความจริงจะปรากฏ หุ้นก็อาจลงมามากกว่าที่คิด จึงควรเลือกปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า

การไซฟ่อนเงิน ตอนที่ 1


การไซฟ่อนเงิน ตอนที่ 1

         เรามักได้ยินคำสองคำ บางคนอาจจะสับสนระหว่างคำว่าการไซฟ่อนเงินกับการฟอกเงิน ทั้งสองคำนี้ต่างกัน การไซฟ่อนเงิน (money siphoning) คือการยักย้ายถ่ายเทผลประโยชน์ของบริษัทไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ส่วนการฟอกเงิน (Money laundering) หมายถึง การกระทำใด ๆ ที่ทำให้เงินที่ได้มาโดยการกระทำที่มิชอบด้วยกฏหมาย หรือได้มาโดยการไม่สุจริตให้กลายเป็นเงินที่ได้มากโดยถูกต้องตามกฏหมาย หรือการฟอกเงิน ก็คือ การทำเงินที่สกปรกให้สะอาด ตลาดหุ้นก็ถือเป็นแหล่งหนึ่งที่อาชญากรทางการเงินใช้เป็นที่ฟอกเงิน แต่วันนี้เราจะไม่พูดถึงเรื่องการฟอกเงิน แต่จะพูดถึงเรื่องการไซฟ่อนเงิน



การยักย้ายถ่ายเทผลประโยชน์ของบริษัทออกไปเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของเจ้าของบริษัท สำหรับในประเทศไทยเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยที่บางครั้งคนซื้อหุ้นเสียประโยชน์โดยไม่รู้ตัว การไซฟ่อนเงิน (money siphoning) โดยอาจจะทำผ่านช่องทางการทำธุรกิจปกติ เช่นในรูปของการซี้อขายสินค้าและสินทรัพย์ การกู้หรือให้ยืมเงิน การค้ำประกันระหว่างบริษัทจดทะเบียนกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้บริหารหรือกิจการของคนเหล่านั้น แม้แต่การใช้ข้อมูลภายใน (inside information)

ข้อสังเกตพฤติกรรมของการไซฟอนเงิน จะมี 4 แบบหลัก ๆ คือ

1. การที่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ทำการซื้อสินค้า สินทรัพย์ หรือเงินลงทุนในราคาที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะกับบริษัทในเครือหรือบริษัทร่วมที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวผู้บริหาร เจ้าของ หรือผู้ถือหุ้น ตัวอย่างแบบที่หนึ่ง คือ การที่บริษัทจดทะเบียนซื้อหรือขายสินค้า หรือทรัพย์สิน ราคาสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะกับกรรมการ/ผู้บริหาร/ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือบริษัทในเครือ/บริษัทที่เกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านั้น เช่น บมจ. AAA ได้ลงทุนซื้อหุ้น 25% ของ บจก. GGG (เป็นบริษัทของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือหุ้นใน AAA ด้วย) ในราคา 125 ล้านบาท ทั้งที่มูลค่าตามบัญชีเพียง 60 ล้านบาท โดยอ้างว่ามูลค่าที่จ่ายเพิ่มเป็นค่าความนิยมของ บจก. GGG แต่ในเวลาต่อมาไม่นาน บมจ. AAA ต้องตั้งสำรองเผื่อขาดทุนจากการด้อยค่าหุ้น บจก. GGG ถึง 80 ล้านบาท และในปีถัดมา GGG ก็อาจทำธุรกิจขาดทุนจนกระทั่งอีกไม่นานก็เลิกกิจการ เป็นต้น ดังนั้นไม่ว่าจะจ่ายราคาที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าความเป็นจริง เงินก็จ่ายไปแล้ว และการซื้อต่ำในตอนแรก ก็บันทึกกำไรจากการต่อรองแล้ว ราคาหุ้นก็ดันขึ้นไปอีกด้วย เท่ากับเจ้าของได้สองต่อ

อีกตัวอย่างของการไซฟ่อนเงิน ซึ่งในรูปแบบที่มักเกิดขึ้น ก็คือ เรื่องของการซื้อที่ดินในราคาสูง โดยมักให้เหตุผลว่าเพื่อเตรียมขยายโรงงาน เช่น ซื้อที่ดินจากบริษัทที่เป็นบริษัทที่ภรรยา/ลูก/คนที่เกี่ยวข้องของประธานกรรมการในบริษัทใหญ่ที่ถือหุ้นอยู่ ในราคา 750 ล้านบาท ซึ่งในเวลาต่อมา ปรากฏราคาประเมินของที่ดินแปลงดังกล่าวเพียง 245 ล้านบาท แถมบริษัทใหญ่ยังประกาศยกเลิกแผนขยายโรงงาน เท่ากับที่ดินที่ซื้อมาไม่มีการใช้ประโยชน์ตามที่บอกไว้ตอนซื้อ แต่ได้มีการผ่องถ่ายเงินของ บมจ. ออกไปยังบริษัทที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารเรียบร้อยแล้ว

2. การที่บริษัทจดทะเบียนอนุมัติเงินกู้หรือลดหนี้สิน หรืออำนวยความสะดวกในด้านใดด้านหนึ่งเกี่ยวกับการเงินของผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร หรือการอนุมัติเงินลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่มีความชัดเจนว่าจะกู้เงินหรือลงทุนในเรื่องใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่บริษัทนั้น ๆ ยังอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ในรูปแบบที่สองนี้ เช่นการที่ บริษัทจดทะเบียนให้กู้หรืออำนวยประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นใหญ่ในกิจการส่วนตัว แล้วขอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติอนุมัติ และภายหลังปรากฏว่า การให้กู้หรืออำนวยประโยชน์ดังกล่าวทำให้บริษัทจดทะเบียนได้รับความเสียหาย เช่นปล่อยกู้แก่บริษัทส่วนตัวของนาย B ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการแห่งหนึ่ง ต่อโครงการดังกล่าวถูกเลื่อนไปไม่มีกำหนด บริษัทส่วนตัวของนาย B ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้ แล้วต่อมาบริษัทนาย B ก็ขอแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งก็เหมือนกับไปซื้อกิจการไม่ดีนั่นเอง

3. การซื้อหุ้นคืน บ่อยๆ โดยก่อนซื้อคืนอาจมีการทำราคาให้สูงขึ้น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือเจ้าของก็สามารถขายคืนบริษัทในราคาสูง ก่อนปล่อยให้ราคาตกเพื่อมาซื้อกลับรักษาสัดส่วนเสียงส่วนใหญ่ไว้ มักนิยมทำหลังการประชุมสามัญหรือการผ่านวาระการโหวตเรื่องสำคัญแล้ว เพราะช่วงนั้นไม่ต้องถือหุ้นเพื่อออกเสียง ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญ การที่บริษัทมีเงินสดมากแต่ไม่เอาไปลงทุนขยายงาน ย่อมไม่เกิดประโยชน์กับผู้ถือหุ้น ลักษณะหุ้นแบบนี้มักมีช่วงขึ้นลงกว้าง ราคาผันผวนมาก หรือ High Price Volatility

4. การตกแต่งบัญชี โดยการตัดบัญชีหนี้เสียออก การทำ Big Bath  แบบนี้มักทำการปลอมแปลงเอกสาร/หลักฐาน รวมถึงเปิดบริษัทขึ้นมาทำธุรกรรมซื้อขายลวง เพื่อไซฟ่อนเงินออก โดยมีการโยกเงินออก เพื่อซื้อวัตถุดิบกับบริษัทดังกล่าว และจัดทำเอกสาร/หลักฐานปลอมขึ้นมา ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้มีการซื้อขายสินค้ากันจริง เป็นต้น วิธีการที่ผู้กระทำผิดมักใช้ปิดบังไม่ให้ผู้อื่นรู้ว่าตัวเองกำลังผ่องถ่ายเงินจากบริษัท ก็คือ การตกแต่งงบการเงิน หรือซุกซ่อนไว้ในการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน (เป็นการทำรายการระหว่างบริษัทกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เช่น ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้ที่เกี่ยวข้องและญาติสนิทของผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รวมถึงกิจการที่คนเหล่านี้ มีอำนาจควบคุมด้วย) แถมหลังๆ วิธีการที่ใช้มีความซับซ้อนขึ้น เช่น หา nominee เป็นชื่อคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องมาทำรายการแทน ทำให้ไม่เข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน ตามรอยยากขึ้นไปอีก