วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเกิดกรณี BREXIT


ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเกิดกรณี BREXIT

ความจริงว่าจะไม่เขียนบทความใดๆ เพราะเป็นความเชื่อแต่ละคนมากกว่า ว่าจะมากจะน้อย เพราะเป็นเรื่องของอารมณ์มากกว่า ใครหนักแน่นแค่ไหน กลัวแค่ไหนก็แต่ละบุคคล ไม่มีใครถูกผิด เพราะผลออกมาก็จะเฉลยเอง ไม่มีใครรู้ได้เลย แต่ที่อ่านหลายสำนักออกมาบอกเรื่องผลกระทบงบการเงิน ตัวนั้นตัวนี้โดนผลกระทบแบบนั้นแบบนี้ เห็นว่าแนะนำแบบผิดๆหลายประเด็น ไม่รู้เรื่องบัญชีจริงๆ เท่าไรนัก มีถูกมีผิด คิดว่าอาจทำให้หลายคนเข้าใจบางประเด็นทางหลักวิชาการผิดๆ

1. กรณีค่าเงินปอนด์อ่อนตัวนั้น ก็เหมือนกับค่าเงินต่างประเทศออ่อน เงินบาทแข็ง โดยหลักแล้ว กรณีการรับรู้ผลกระทบในงบกำไรขาดทุนนั้น ผลการแตกต่างจะเข้าท่อนบน ถ้ารายการนั้นคือ ผลจากการดำเนินงานโดยตรง เช่นเกิดจากการซื้อขายสินค้าหรือวัตถุดิบ กิจการที่ส่งออกโดยตรงสินค้าจากไทยจะแพงขึ้นในสายตาเงินสกุลประเทศนั้นถ้าเราขายราคาเงินบาทเดิม ฉนั้นยอดขายจะลดลง นอกจากสินค้าต้องขายมากชิ้นขึ้น ถ้าลดราคาขายเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ยอดขายในรูปบาทอาจไม่ลด หรือเพิ่มไม่มาก แต่อัตรากำไรขั้นต้นจะลดลง

2. ถ้ามีสินทรัพย์เช่นลูกหนี้การค้า หรือสินทรัพย์หมุนเวียนที่เป็น Monetatry Asset (สินทรัพย์ที่เป็นตัวเงิน) จะเกิดขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ผลต่างนี้จะเข้ากำไรขาดทุนท่อนบน รายการที่เป็น Monetatry Asset ก็มีเงินลงทุนชั่วคราว (สินทรัพย์หมุนเวียน) ไม่ใช่เงินลงทุนระยะยาว

3. ถ้ามีหนี้สิน ไม่ว่าระยะสั้น ระยะยาว คือเจ้าหนี้การค้า เงินกู้ยืมระยะยาวหรือระยะสั้นต่างประเทศ จะได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผลต่างจะเข้าท่อนบนของกำไรขาดทุน

4. ตรงนี้ครับที่ผิดหมดทุกสำนัก หรืออธิบายไม่ชัดเจน สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่เป็นเงินลงทุนทุกประเภท ผลกระทบจะไม่เข้ากำไรขาดทุนท่อนบนครับ หากมีผลต่างเกิดขึ้นจากการวัดมูลค่าจะเข้างบกำไรขาดทุนท่อนสอง (กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น) ไม่เกี่ยวกับ EPS แต่กระทบ BV (Book Value) P/BV จะดูสูงขึ้น P/E ไม่กระทบ ROE จะสูงขึ้นเพราะ Equity ลดลง ถ้าหากมองแล้ว P/E ไม่กระทบ ROE เพิ่ม ROA เพิ่ม P/BV เพิ่ม ราคาหุ้นไม่น่ากระทบมาก จากปัจจัยทั้งสามที่บอก ดังนั้นหากใครบอกว่ากระทบงบการเงินและอัตราส่วน ก็แสดงว่าไม่เข้าใจเรื่องทางบัญชีดีพอ

5. เงินลงทุนไม่หมุนเวียนอื่นหรือเผื่อขาย (ถือ< 20%) ผลต่างที่เกิดเหมือน Mark to Market ผลต่างจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเงินลงทุน จะรับรู้เข้างบกำไรขาดทุนท่อนสอง (กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น)

6. เงินลงทุนร่วม (20-50%) ถ้าต้องปรับมูลค่าก็เหมือนเงินลงทุนไม่หมุนเวียนอื่นหรือเผื่อขาย ผลต่างจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเงินลงทุน จะรับรู้เข้างบกำไรขาดทุนท่อนสอง (กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น) ส่วนแบ่งกำไรรับรู้ตามสัดส่วนเหมือนเดิม ส่วนจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นกับผลปะกอบการ การที่บริษัมร่วมอยู่ในประเทศที่ค่าเงินอ่อนอาจได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศ กำไรอาจดีขึ้นชดเชยการอ่อนค่าก็ได้

7. เงินลงทุนในบริษทย่อย (>50%) ต้องจัดทำงบการเงินรวม ผลต่างจะถูกปรับปรุงเรียกว่า ผลต่างจากการแปลงค่า ซึ่งรายการนี้จะเกิดเมื่อทำงบการเงินรวม และผลต่างนี้จะรับรู้เข้างบกำไรขาดทุนท่อนสอง (กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น)

8. สรุปผลกระทบทางตรงคือกิจการที่มีกิจกรรมดำเนินงานโดยตรง นำเข้า ส่งออก และกู้ยืม และจะมากหรือน้อยต้องดูสัดส่วนธุรกรรมด้วยครับ ส่วนเงินลงทุนระยะยาว (สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน) ไม่กระทบกำไรขาดทุนท่อนบน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น