วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559

การไซฟ่อนเงิน ตอนที่ 2


การไซฟ่อนเงิน ตอนที่ 2

ต้องยอมรับว่าการดูข้อมูลเพื่อบอกว่าบริษัทไซฟ่อนหรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย รวมถึงบางเรื่องต้องใช้เวลายาวนาน และเข้าใจทางการบัญชีพอควร แต่มีไฟย่อมมีควัน ดังนั้นเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น อย่างน้อยต้องมีเงื่อนพอให้สืบค้นเรื่องราวต่อไปได้บ้าง คำแนะนำเบื้องต้นให้สัญญาณต่างๆ มีดังนี้

1. จับสัญญาณจากงบการเงิน โดยอาศัยวิเคราะห์อัตราส่วนจากข้อมูลในงบการเงิน หรือแม้แต่ความเห็นของผู้สอบบัญชี เช่นถึง แม้ผู้สอบบัญชีจะรับรองว่างบการเงินถูกต้อง แต่มีการตั้งข้อสังเกตบางอย่าง (รายงานผู้สอบบัญชีให้ข้อสังเกต ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในรายงาน เดิมบางผู้สอบบัญชีก็มีเขียนรายงานอยู่แล้ว) อันนี้ต้องดูรายละเอียดว่า ผู้สอบบัญชีกำลังบอกอะไร เช่น ผู้สอบบัญชีอาจบอกว่า บริษัทมีการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันเป็นจำนวนมากด้วยข้อความหน้างบว่า “โดยมิได้เป็นการแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขต่องบการเงินข้างต้น ข้าพเจ้าขอให้สังเกตหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 3 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายการค้าระหว่างบริษัทและบุคคลที่เกี่ยวข้องกันเป็นจำนวนมาก และในระหว่างปีบริษัทมีการรับคืนสินค้า เนื่องจากสินค้าเสียหาย” เป็นต้น

สัญญาณที่จะสะท้อนว่างบการเงินมีปัญหา จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อความเห็นของผู้สอบบัญชีออกแนวเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ ได้แก่ การแสดงความเห็นต่องบการเงินนั้นแบบมีเงื่อนไข เช่น บอกว่าถ้าไม่นับเรื่องนี้แล้ว งบการเงินที่เหลือถูกทั้งหมด หรือการบอกว่า ไม่อาจแสดงความเห็นต่องบการเงินได้ เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงขั้นที่แรงสูงสุด คือ บอกว่างบการเงินนั้นไม่ถูกต้อง

2. ข้อมูลการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน ไม่ใช่ว่าการที่บริษัททำรายการเหล่านี้จะไม่ดีเสมอไป  แต่มีเพียงบางกรณีที่ถูกใช้เป็นช่องทางถ่ายเทผลประโยชน์ได้ ดังนั้น ในฐานะผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทคนหนึ่ง  ควรรักษาประโยชน์ของตนเอง โดยเข้าไปดูว่าการทำรายการนั้นมีประโยชน์อะไรบ้างต่อบริษัท มีความสมเหตุสมผลไหม ที่สำคัญคือ ราคามีความเป็นธรรม สมเหตุสมผลหรือไม่ หรือมีเงื่อนไขอย่างไร ทำให้บริษัทเสียประโยชน์หรือไม่ มีหลายกรณีที่รายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทดูน่าสงสัย แต่ก็ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ถือหุ้นที่ไม่เห็นด้วย ไม่ได้เข้าประชุมเพื่อใช้สิทธิโหวตคัดค้าน หรืออาจไม่เข้าใจ จึงไม่ให้ความสนใจตรงนี้

3. ควรติดตามว่าบริษัทได้ทำอะไรที่ไม่ใช่ธุรกิจปกติหรือไม่ เช่นธุรกิจหลักของบริษัทไม่ได้เป็นธนาคาร แต่ทำไมชอบปล่อยกู้เสียจริงหรืออาจให้สินเชื่อการค้า แล้วต่อมาก็มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญ เราควรติดตามดูรายการเหล่านี้ว่าบริษัทมีมาตรการอย่างไร มีการวิเคราะห์ความสามารถของลูกหนี้ในการชำระคืนเงินกู้หรือไม่ หรือบางทีบริษัทไปลงทุนในอะไรใหม่ๆ ที่บริษัท ไม่มีความรู้ความชำนาญมาก่อน ต้องดูว่ามีความสมเหตุสมผลไหม  

4. พิจารณาว่าบริษัทมีระบบการควบคุมภายในที่ดีพอหรือไม่ เช่น ให้บุคคลคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจลงนามโดยไม่มีระบบคานอำนาจ ก็เป็นช่องทางให้เกิดการไซฟ่อนได้ง่าย หรือหากระบบควบคุมภายในไม่ดีก็ทำให้เกิดการรั่วไหลของทรัพย์สินได้ง่ายเช่นกัน ตัวช่วยบอกสัญญาณในเรื่องนี้ก็มาจากรายงานผู้สอบบัญชี อัตราส่วน turnover ต่างๆ ผันผวนสูงๆ สม่ำเสมอ



บริษัทที่จะลงทุนถ้าหากส่งสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักว่าอาจมีการไซฟ่อน ไม่ผิดถ้าคุณจะถอยหลังออกมา เพราะยังมีหุ้นตัวอื่นๆ ให้เลือก จำไว้ว่าการลงทุนในหุ้น ถึงแม้จะดี ก็มีความยังเสี่ยงในการลงทุนตามปกติอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องเพิ่มความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่น่าสงสัยว่าจะมีการไซฟ่อนอีก บางคนสนใจทำกำไรเพียงสั้นๆไม่กี่วัน ไม่กี่สัปดาห์ไม่กี่เดือน ถ้าติดหุ้นก็ต้องทำใจยอมรับ cut loss เพราะบางทีอาจใช้เวลานานกว่าความจริงจะปรากฏ หุ้นก็อาจลงมามากกว่าที่คิด จึงควรเลือกปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น