วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

การอ่านงบกระแสเงินสด การมองปัญหาธุรกิจจากงบกระแสเงินสด


การอ่านงบกระแสเงินสด การมองปัญหาธุรกิจจากงบกระแสเงินสด

งบกระแสเงินสดสามารถบอกปัญหาธุรกิจ บอกถึงกลยุทธ์ระยะยาวธุรกิจ ตลอดจนการจัดการด้านโครงสร้างทุนในระยะยาวได้ นอกจากเราสามารถที่จะมองธุรกิจผ่านงบแสดงฐานะการเงิน (งบดุล) ความสามารถในการดำเนินงานผ่านงบกำไรขาดทุนแล้ว การมองงบกระแสเงินสดก็ทำให้เราเข้าใจได้ลึกมากขึ้น งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน เป็นรายงานหลัก ถ้าหนังภาพยนต์ก็เปรียบเหมือนพระเอกนางเอก แต่งบกระแสเงินสด บอกให้เรามองธุรกิจในมิติที่ลึกมากขึ้น



งบกระแสเงินสดแบ่งเป็นสามกิจกรรม (3 Activities) คือ

1.       กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (Cashflow from operating activities)

2.       กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน (Cashflow from investing activities)

3.       กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน (Cashflow from financing activities)

ในแต่ละกิจกรรมบ่งบอกได้ถึงทั้งปัญหา กลยุทธ์  นอกจากการมองภาพใหญ่ดังที่เคยบอกไปว่า

CFO+  CFI- CFF- โดยทั่วไปดี มีเงินจากการทำธุรกิจ พอจ่ายลงทุน จ่ายหนี้ จ่ายปันผล

CFO+ CFI-  CFF+  มีเงินจากการทำธุรกิจบ้างแต่ไม่มากพอ แต่ลงทุนมากกว่าต้องกู้เงินเพิ่ม

CFO+  CFI+ CFF- มีเงินจากการทำธุรกิจบ้างแต่ไม่มากพอ ต้องขายสินทรัพย์ เพื่อจ่ายหนี้ จ่ายปันผล

CFO-  CFI+ CFF+ แย่สุดไม่เหลือเงินจากการทำธุรกิจ ต้องขายสินทรัพย์และก่อหนี้เพื่อดำเนินธุรกิจ

CFO-  CFI+ CFF-  แย่ไม่เหลือเงินจากการทำธุรกิจ ต้องขายสินทรัพย์เพื่อจ่ายหนี้จ่ายปันผล และใช้ทำธุรกิจ

CFO-  CFI- CFF+  ไม่เหลือเงินจากการทำธุรกิจ แต่ยังลงทุนโดยอาศัยเงินกู้ เริ่มใช้เงินเกินตัว

ส่วนกรณี CFO+ CFI+ CFF+  และ CFO-  CFI- CFF- ไม่สมเหตุสมผล แบบแรก มงินจากการทำธุรกิจ แล้วยังขายสินทรัพย์ แล้วก็กู้หรือเพิ่มทุนอีก เงินท่วมกิจการ แบบหลัง เงินจากการทำธุรกิจก็ไม่มี ลงทุนอีก จ่ายหนี้อีก ถ้าไม่มีเงินสดยกมามากๆ ก็ทำไม่ได้ แต่เงินจะลดไปมากจะรอดได้ยังไงถ้าเกิดอีกปีหน้า

-               CFO ควรมากกว่าเงินปันผลจ่าย

-               CFI ที่ดีต้องเป็นการซื้อที่ดินอาคารอุปกรณ์ (PPE) เป็นส่วนใหญ่ และมากกว่าค่าเสื่อมราคา

-               รายการปรับปรุงกำไรใน CFO บอกรายการ one time gain/loss ได้ดีและบอกให้รู้ว่ากำไรที่เห็นในกำไรขาดทุนเป็นรายการที่ไม่ใช่ดำเนินงานเท่าไร



นั่นคือภาพใหญ่ที่เราสามารถมองเบื้องต้นและตั้งข้อสังเกตได้ และในแต่ละกิจกรรมในรายการต่างๆยังมีสัญญาณ มีประโยชน์ต่อผู้ใช้งบกระแสเงินสดมากมาย



1. ในการอ่านงบการเงินนั้นบางครั้งหากเราดูแต่งบกำไรขาดทุนอาจจะไม่ได้พบอะไรมากนักเพราะ งบกำไรขาดทุนจะให้ภาพรวมๆมากกว่า ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่ทราบบางเรื่องราวในธุรกิจ การดูแต่ตัวเลขกำไรนั้นอาจทำให้เราประเมินทิศทางธุรกิจผิดก็ได้ หัวข้อในงบกระแสเงินสดบางรายการจะมีนัยที่บ่งชี้สิ่งที่ซ่อนอยู่ได้ ซึ่งหาได้จากรายการปรับปรุงกำไร (ขาดทุน) ก่อนภาษีเงินได้เป็นเงินสดรับ (จ่าย) เช่น
- หนี้สงสัยจะสูญ รายการนี้จะบวกกลับ บางครั้งบางบริษัทอาจแสดงแยกรายการในงบกำไรขาดทุน บางบริษัทอาจจะรวมในค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร จำนวนเงินบอกให้รู้ว่าระหว่างปีบริษัทตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพอหรือไม่ เราตรวจสอบเบื้องต้นจากอัตราส่วน AR Turnover หากรอบหมุนเวียนเร็ว (มากกว่า 6 แสดงว่าเฉลี่ยเก็บเงินหรือให้ credit การค้าไม่เกิน 60 วัน) ก็ตั้งเพียงพอถ้ารอบน้อยแสดงว่าตั้งสำรองไว้น้อย

- ขาดทุนจากมูลค่าสินค้าลดลง รายการนี้จะแสดงบวกกลับ เช่นเดียวกับหนี้สงสัยจะสูญบางบริษัทอาจแสดงแยกรายการในงบกำไรขาดทุนหรืออาจจะรวมในค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารก็ได้ แต่ในทางหลักบัญชีที่ถูกต้องต้องรวมในต้นทุนขาย ที่กล่าวเช่นนี้เพราะบางบริษัทแสดงเป็นค่าใช้จ่ายอื่นแยกแสดงรายการจากต้นทุนขาย บอกอะไรหากแสดงไว้นอกต้นทุนขาย เพราะเมื่อหักค่าใช้จ่ายนี้ไว้นอกต้นทุนขายแสดงว่าเมื่อวิเคราะห์อัตราส่วนกำไรขั้นต้นจะสูงกว่าความจริงเพราะค่าใช้จ่ายนี้ไม่ถูกรวมอยู่ สมการต้นทุนขาย = สินค้าคงเหลือต้นงวด + (ซื้อ + ค่าใช้จ่ายการผลิตระหว่างงวด) สินค้าคงเหลือปลายงวด เมื่อสินค้าคงเหลือประกอบด้วย วัตถุดิบ งานระหว่างทำ และสินค้าสำเร็จรูป การขาดทุนจากมูลค่าสินค้าลดลงทำให้สินค้าคงเหลือปลายงวดน้อยลง นั่นคือต้นทุนขายสูงขึ้น การแสดงรายการนี้ไว้ผิดที่ก็แสดงว่าอาจกำลังพยายามบิดเบือนอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) ดังนั้นถ้าเห็นรายการนี้ปรากฏขึ้น แล้วแนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นไม่ลดลง แสดงว่ามีแนวโน้มที่จะแสดงขาดทุนจากมูลค่าสินค้าลดลงที่อื่นที่ไม่ใช่ต้นทุนขาย (กำไรขาดทุนรวมไม่ผิดแต่การวิเคราะห์อัตรากำไรขั้นต้นผิดทำให้วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจผิดได้) และเมื่อตีมูลค่าลงในงวดใดแล้ว งวดถัดไปจะกลับรายการเสมอ หากการกลับรายการเท่าที่ลงขาดทุนงวดก่อน แสดงว่าแนวโน้มราคาสินค้าหยุดลดลง แต่ถ้ากลับรายการน้อยลง แปลว่าราคาสินค้ายังลงต่อแต่ช้าลง หรือถ้าลบหรือขาดทุนต่อ แสดงว่าลดลงมากกว่าเดิม

- ขาดทุน(กำไร)จากการจำหน่ายสินทรัพย์ถาวร ขาดทุนจะบวกกลับ ถ้ากำไรจะนำมาลบออก แสดงว่าในระหว่างงวดบริษัทมีการขายสินทรัพย์ออก ถ้าจำนวนไม่มากก็เป็นการขายเศษซากสินทรัพย์เท่านั้นไม่มีสาระใดๆ แต่ถ้าจำนวนมากๆ (กำไร) แสดงว่าจะมีการสร้างรายการ one-time gain เพื่อแสดงกำไรรวมให้ดูสูง หากเราเอากำไรนี้ออก (โดยปรับอัตราภาษีออก เช่น กำไรจากการขายสินทรัพย์ 250 ลบ. เอากำไรนี้ออกจากกำไรสุทธิ ต้องลบด้วย 250*(1-t) = 250*(1-0.2) = 200 รายการประเภทนี้รวมถึงกำไรจากการขายเงินลงทุนด้วย

- ขาดทุนจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ถาวร เป็นรายการบวกกลับ แต่บอกให้รู้ว่ามีสินทรัพย์ที่เลิกใช้งานเท่าไร และมีการเอารายการนี้ออกจากงบแสดงฐานะการเงิน ในภาวะปกติจะมีจำนวนน้อยเพราะสินทรัพย์ที่ตัดออกนี้มักจะตัดค่าเสื่อมจนหมดแล้ว (มักมีราคาซากน้อยมาก เช่น 1 บาท) แต่หากมีจำนวนมากแสดงว่ามีสินทรัพย์ที่เป็น non-performing assets อยู่จำนวนหนึ่งซึ่งอาจหมายความว่าเกิดความล้าสมัยในเทคโนโลยีการผลิต หรืออาจเกิดเพราะกิจการมีการเปลี่ยนรูปแบบการผลิต หรือยกเลิกการผลิตในสายผลิตภัณฑ์นั้นและเครื่องจักรไม่สามารถนำไปใช้ในการผลิตได้อีก เราอาจต้องดูเชิงลึกถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ กลยุทธ์การตลาด vision เป็นต้น

- ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ เป็นรายการบวกกลับ รายการด้อยค่าจะเกิดขึ้นเมื่อมูลค่าที่จะได้รับจากสินทรัพย์ (ราคาขายสุทธิหรือมูลค่าจากการใช้ที่หามาจากมูลค่ากระแสเงินสดรับสุทธิที่เกิดจากการใช้สินทรัพย์นั้นในการผลิตขายแล้วแต่ค่าใดสูงกว่า) เทียบกับราคาตามบัญชีสุทธิขณะนั้น หากมูลค่าที่จะได้รับจากสินทรัพย์ น้อยกว่าก็จะเกิดการด้อยค่าสินทรัพย์ การด้อยค่านี้บอกนัยได้หลายอย่างคือ
-ในภาวะปกติ บ่งบอกว่าที่ผ่านมาบริษัทตัดค่าเสื่อมราคาน้อยเกินไป (อดีตแสดงกำไรสูงไป)
-ในภาวะเศรษฐกิจขาลง บอกว่ารายได้บริษัท(จากการขาย) กำลังลดลงในระยะยาว และมูลค่าสินทรัพย์นั้นๆก็กำลังลดมูลค่าลงมาก

- ขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อย/ร่วม เป็นรายการบวกกลับเช่นกัน แต่บอกให้รู้ว่าในบริษัทที่กิจการเข้าไปถือหุ้นอยู่นั้น เริ่มหรือเป็นกิจการในช่วง sunset หรือที่เข้าไปลงทุนนั้นซื้อมาในราคาแพงเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับกำไร(หรือกระแสเงินสด Free cash flow) ธุรกิจลูกเริ่มไม่สดใส หากมูลค่าบริษัทถูกประเมินเพราะคาดว่าการซื้อธุรกิจทำให้เกิด synergy อาจต้องทบทวนใหม่

2. กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (Cashflow from operating activities) มีสองส่วนคือส่วนแรกเกิดจากการปรับปรุงให้กำไรเป็นกำไรเฉพาะการดำเนินงาน หลังปรับปรุงแล้วจะได้กำไรจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงาน กำไรตรงนี้คือกำไรที่เอารายการไม่เป็นเงินสดหรือเกี่ยวกับการดำเนินงานออกหรือเข้าใจอีกมุมง่ายๆ คือกำไรที่ไม่รวม one-time gain (loss) รายการส่วนนี้บอกว่ากำไรเฉพาะการดำเนินงานที่ใกล้เงินสดที่สุดเป็นเท่าไร กำไรสุทธิควรมากกว่าหรือใกล้เคียงกำไรจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงาน เพราะถ้าน้อยกว่าหรือติดลบ แสดงว่ากำไรที่เห็นไม่ได้มาจากการทำธุรกิจหลัก ตรงนี้บอกให้รู้ว่าธุรกิจเริ่มมีปัญหาในการดำเนินงานปกติ ต้องพยายามสร้างกำไรแปลกๆ เข้ามา เช่นตัวอย่าง

บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัทย่อยและกิจการที่ควบคุมร่วมกัน                                                                                                                                  

งบกระแสเงินสด                                                                                                                                          

                                                                                                                                        2556

กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน                                                                                                                             

กำไรก่อนภาษี                                                                                                       9,245,222,372

กำไรจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงใน ส/ท น/ส                                3,819,960,409

เงินสดจาก (ใช้ไปใน) กิจกรรมดำเนินงาน                                                                                                                           (6,086,537,876)

   จ่ายดอกเบี้ย                                                                                                                               (1,524,680,020)

   จ่ายภาษีเงินได้                                                                                                       (798,255,658)

เงินสดสุทธิจาก (ใช้ไปใน) กิจกรรมดำเนินงาน                                                                                                                               (8,409,473,554)

กำไรปี 2556 ก่อนภาษี 9.4 พันล้านบาท แต่กำไรจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงใน ส/ท น/ส ดำเนินงาน เหลือเพียง 3.8 พันล้านบาท กำไรกว่ากว่า 7 พันล้านบาทมาจาก

   กำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม                               (3,293,595,546)

   กำไรจากการวัดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในบริษัทร่วม ณ วันเปลี่ยนสถานะ (3,821,639,871)

ถ้าเราไม่สนใจเราก็นึกว่ากำไรเพิ่มจากปีก่อนมากมาย กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมสำหรับปี 2556 เท่ากับ 9,087 ลบ.เทียบปี 2555 กำไรสุทธิเท่ากับ 2,282 ลบ.



3. กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (Cashflow from operating activities) ส่วนที่สองคือเงินสดจาก (ใช้ไปใน) กิจกรรมดำเนินงาน รายการนี้จะเกิดจากกำไรจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงใน ส/ท น/ส ดำเนินงานแล้วหักหรือบวกด้วยการเพิ่มหรือลดในสินทรัพย์หมุนเวียน เช่นลูกหนี้การค้า สินค้า เจ้าหนี้การค้า และ ส/ท น/ส หมุนเวียนอื่นๆ หรือดำเนินงานอื่นๆ ปกติถ้าเก็บหนี้ปกติ สินค้าหมุนเวียนปกติไม่มีรอบยาวเกินไป กำไรจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงใน ส/ท น/ส เมื่อปรับ ส/ท หรือ น/ส แล้ว รายการเงินสดจาก (ใช้ไปใน) กิจกรรมดำเนินงานจะไม่ลดลงหรือติดลบ ดังตัวอย่าง

บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย      

งบกระแสเงินสด                                                                              

                                                                                                                      2556

กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน                                           

กำไร (ขาดทุน) ก่อนภาษี                                                                         101,281,555

กำไรจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงใน ส/ท น/ส                  167,187,988

เงินสดจาก (ใช้ไปใน) กิจกรรมดำเนินงาน                                            (191,978,029)

   จ่ายดอกเบี้ย                                                                                             (65,750,818)

   จ่ายภาษีเงินได้และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย                                             (5,854,327)

เงินสดสุทธิจาก (ใช้ไปใน) กิจกรรมดำเนินงาน                                     (263,583,174)

Cash cycle days                                                                                                        155

บริษัทที่มีรอบวงจรเงินสดยาว คือลูกหนี้เก็บเงินช้า สินค้าหมุนเวียนช้า จ่ายเจ้าหนี้การค้าเร็ว ลูกหนี้จะเพิ่มมาก สินค้าก็เช่นกัน เจ้าหนี้การค้าเพิ่มน้อยกว่า ทำให้การเปลี่ยนแปลงใน ส/ท น/ส เป็นยอดลบ ทำให้รายการเงินสดจาก (ใช้ไปใน) กิจกรรมดำเนินงานลดลงและอาจถึงติดลบดังนั้นอาจสรุปในเบื้องต้นได้คือ

- กำไรสุทธิหรือกำไรก่อนภาษี > กำไรจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงใน ส/ท น/ส ปกติควรมากกว่าเพราะรายการปรับปรุงจะบวกค่าเสื่อมราคากลับเข้าในกำไรยิ่งมีสินทรัพย์ PPE มากยิ่งมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงใน ส/ท น/ส มากกว่ากำไรสุทธิ การที่กำไรสุทธิมากกว่าแสดงว่ามีปัญหาในการดำเนินธุรกิจ  แสดงว่ามี one-time มากต้องระวังการตกแต่งกำไรจากรายการที่ไม่ปกติ

- เงินสดจาก (ใช้ไปใน) กิจกรรมดำเนินงาน < กำไรจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงใน ส/ท น/ส แสดงว่ามีปัญหาวงจรเงินสดยาวมากขึ้น

4. สรุป กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (Cashflow from operating activities) ส่วนบนบอกถึงปัญหาการทำกำไรจากการกำเนินงาน ส่วนที่สองบอกเรื่องวงจรเงินสดที่ดีหรือแย่ลง ดังนั้นบริษัทที่ กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (Cashflow from operating activities) ติดลบ เราต้องมองว่าเกิดจากอะไร อะไรทำให้ติดลบหรือลดลง บริษัทที่เกิดปัญหา แล้วจะ turnaround ได้หรือไม่ต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด หาไม่แล้วก็จะกลับมาสู่ปัญหาเดิมๆ ในอนาคต

5. กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน (Cashflow from investing activities) ส่วนนี้บอกถึงกลยุทธ์ธุรกิจ กิจการที่ใช้กลยุทธ์เติบโต ส่วนนี้จะเห็นถึงการลงทุนต่อเนื่อง และที่สำคัญจะมากกว่าค่าเสื่อมราคา (ควรดูงบปี ไม่ควรดูงบไตรมาส) เพราะการลงทุนจะสูงกว่าส่วนที่ลดลงของที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ การลงทุนเท่ากับค่าเสื่อมราคาคือการทดแทนเท่านั้น ไม่ใช่การขยาย ปกติดูเงินสดจ่ายซื้อที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ควรมากกว่าค่าเสื่อมราคาสักราว 2 เท่าขึ้นไป การจ่ายลงทุนในที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ แสดงถึงการเน้นการเติบโตแบบ organic growth ส่วนการลงทุนในเงินลงทุนย่อยหรือร่วมเป็นการเติบโตเน้น inorganic growth

6. กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน (Cashflow from financing activities) ธุรกิจใดมีรายการกู้ยืมดูเยอะ จะบ่งบอกว่าต้องหมุนเงินกู้ยืมมาก กู้ที่หนึ่ง มาจ่ายที่หนึ่ง ผมจะไม่ค่อยชอบนัก และมองมองว่าปัญหาลึกๆ คือบริษัทอยู่ได้เพราะเงินกู้ ขาดเงินกู้จากสถาบันการเงินก็อาจล้มได้ไม่ยาก ถ้าดูงบกิจการรับเหมาก่อสร้างจะชัดเจน บริษัทที่มี D/E Ratio สูงๆ จะแสดงรายการกู้ยืมและจ่ายคืนมาก หมุนเงินไปมา พวกนี้หนี้ไม่ลด รายการ CFF ที่ดีควรลบเพราะจ่ายปันผล แสดงว่าทำมาหากินแล้วมีเงินคืนผู้ถือหุ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น