ปัญาการเงิน “มะเร็งร้าย” ของธุรกิจ วิกฤตทางการเงิน 4 ระยะ
ในระยะตั้งแต่ปลายปีที่แล้วถึงต้นปี
เชื่อว่าหลายคนได้ข่าวการเบี้ยวตั๋วบีอีของบริษัทในตลาดหุ้นหลายแห่ง
และมีหลายบริษัทก็ไปไม่รอด จนถูกขึ้น SP หลายบริษัท และหากได้ดูกันลึกๆ
แล้ว โดยเฉพาะตัวเลขทางการเงิน จะพบว่าสัญญาณแสดงออกมาเป็นปีๆ ทีเดียว ไม่ใช่เกิดปุ๊บล้มปั๊บ
แต่ส่วนมากถูกหลอกหรือมักหลอกตัวเองว่าทำแบบนี้มี Business Model ดี ดูมีอนาคต กำไรจะมา ยอดขายจะมา การวิเคราะห์เชิงคุณภาพยากมาก ไม่ใช่เรื่องข้อมูล
แต่ยากเพราะข้อมูลนั้นต้องใช้ความระมัดระวัง จินตนาการ (มโน) อย่างรอบครอบ
ใช้ประสบการณ์ล้วนๆ มองการเชื่อมโยงให้ออก ผมจะมองไปคู่กับสถิติข้อมูลเชิงปริมาณเสมอ
ถ้าข้อมูลงบการเงินที่ผ่านมาไม่เคยบอกว่าทำได้ ก็จะรับรู้เฉยๆ ผมคิดว่าขึ้นไม่ทันรถ
ดีกว่าขึ้นแล้วตกจากรถ หรือรถคว่ำ อันนั้นเป็นตายเลยทีเดียว ตลาดหุ้นมีโอกาสเสมอ
ปัญหาที่นักลงทุนเมื่อวิเคราะห์กิจการคือ
มักมองแต่ด้านการทำกำไร มักละเลยความเสี่ยง ผมเชื่อว่าทุกคนรู้อยู่แล้วว่า
การลงทุนมีความเสี่ยง หุ้นทุนหรือตราสารเสี่ยงที่สุด การทำธุรกิจมีความเสี่ยงมากมาย
การวิเคราะห์กิจการนอกจากการมองหาธุรกิจที่ Make Profit และ Generate Cash
Flow แล้ว ต้องเป็นกิจการที่ Solvency ด้วย
การทำกำไรคือเรื่องการตลาด Business Model ดี รูปแบบการทำกำไรดี
ยังไม่ใช่สิ่งเดียวที่บอกว่าธุรกิจดี แต่ต้องมีการบริหารงานที่ดีมีประสิทธิภาพ (Generate
Cash Flow) เพราะจะสร้างกระแสเงินสดเข้ากิจการได้อย่างแท้จริง แต่บางครั้งพฤติกรรมบางอย่างที่เราอาจไม่เห็น
การดำเนินงานทุกอย่างจะถูกสะท้อนผ่านงบการเงินเสมอ คนที่ทำงานดี รายได้สูง มีประสิทธิภาพ
แต่ก็อาจมีโรคร้ายซ่อนอยู่ได้ และโรครายนี้เองอาจทำให้ชีวิตอายุขัยสั้นลง หรือลดความสามารถการทำรายได้ลงในระยะยาวได้
ซึ่งปัญหาการเงินมักกลายเป็นปัญหาของธุรกิจ ซึ่งปัญหานี้คล้ายกับโรคมะเร็ง
บางคนพอเป็นแล้วโรคลุกลามเร็ว ไม่เกินปีก็สียชีวิต บางคนกว่าจะพบว่าเป็น
อาการอาจปรากฎให้เห็นเมื่อเข้าสู่ระยะที่สามหรือสี่สุดท้าย
ในทางการแพทย์หากพบในระยะต้นๆ โอกาสรักษาหายสูงมาก ถ้าเป็นระยะท้ายๆ มักต้องทำคีโม
บางคนก็ผ่านมาได้แต่ร่างกายทรุดหนักมาก ดังนั้นการพบอาการที่เริ่มบอกเหตุของปัญหาการเงินทำให้ธุรกิจรีบแก้ไขก่อนบานปลาย
หรือในแง่การลงทุนก็ควรระวังหรือออกห่างไว้ แบ่งได้เป็น 4
ระยะอาการของโรคคือ
1. ระยะฟักตัว Earning Fluctuation - Non-quality of
Earning
- ขยายธุรกิจอย่างหลับหูหลับตา รายได้อาจโตเร็ว แต่ AT มักลดลง
และมักพบว่าเติบโตแบบ Non-organic Growth มากกว่าการเติบโตแบบ
Organic Growth นอกจากนี้เมื่อพิจารณาด้าน Sustainable
Growth ก็จะพบว่าไม่ดีเท่าไร ไม่นิ่ง และมี ROA แนวโน้มลดลง
- ทำการตลาดผิดพลาด แผนการตลาดที่ผิดพลาดมักพบได้จาก ยอดขายที่ไม่เพิ่มแต่ค่าใช้จ่ายการตลาดเพิ่มอย่างมาก
หรือมี OM (Operating Margin) ลดลง (AT ลด OM
ลด ย่อมทำให้ ROA ลด)
- ระบบบริหารไม่มีประสิทธิภาพ อัตราส่วนด้าน Turnover แย่ลงไม่นิ่ง
ผันผวน วงจรเงินสดเริ่มยาวขึ้น บางกิจการที่มีวงจรเงินสดยาวขึ้นแต่ยังไม่มากกกว่า 45
วัน ยังถือว่าไม่น่ากังวล แต่บางกิจการที่ยาวเกิน 180 วันผมถือว่าเสี่ยง แม้จะลดลงก็ยังระวังอยู่
- ขาดระบบการบริหารวิกฤต Crisis Management วิกฤตกิจการเกิดได้จากทั้งภายในภายนอก
ภายในมักกระทบการดำเนินงาน ทำให้อัตราส่วน turnover ไม่นิ่ง
ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายเพิ่ม เช่นคนงานประท้วง พนักงานลาออกพร้อมๆกันหลายคน
(ยกทีมออก) หรืออาจมีผลให้ยอดขายลดลง เช่น ข่าวที่ทำให้ผู้บริโภคต่อต้านใช้สินค้า
ข่าวของกลุ่มลูกค้าลดลงจากการเกิดโรคระบาดในประเทศ เป็นต้น อัตราส่วนที่สะท้อนการเกิดผลกระทบนี้คือ
Assets Turnover
-ใช้ทรัพยากรไม่เหมาะสม รวมทั้งการขาดประสิทธิภาพ การจัดสรรการใช้ทรัพยากรไม่เหมาะสม
จะทำให้ทรัพยากรไม่สามารถสร้างรายได้หรือต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้สินทรัพย์นั้นๆ
สูงกว่าค่าของอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ย พบได้ในอัตราส่วน AT GM OM เมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจเดียวกัน
- ละเลยต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพธุรกิจ หรือปรับตัวไม่ทัน กิจการที่ปรับตัวไม่ดี
จะหลุดจากตำแน่งที่เคยโดดเด่นในอุตสาหกรรม อัตราส่วนการเงินต่างๆจะถดถอยลง
บางครั้งอาจพบว่าพยามสร้างหรือรักษากำไรจากการมี one time gain มีการซื้อหุ้นคืน
หรือจ่ายปันผลพิเศษแบบแปลกๆ ไม่สมเหตุสมผล
2. ระยะสำแดงอาการ Start Financial Crisis - Liquidity
Problems หากอาการระยะที่ 1 เกิดแล้ว และหากยังดำรงอยู่ต่อสักระยะ
สิ่งที่ตามมาคือ
- เงินทุนไม่เพียงพอ /ขาดแหล่งเงินทุนสนับสนุน CFO เริ่มลดลง D/E
เริ่มสูงขึ้น Debt/EBIT > 8
- พึ่งพาเงินกู้มากเกินไป ภาระดอกเบี้ยสูง DeBT/EBIT > 8 เริ่มมี ICR < 1.3 หรือ MICR < 1
- ขาดฐานข้อมูลและระบบบัญชีบัญชีที่มีประสิทธิภาพ รายงานการเงิน (งบการเงิน)
มักมีปัญหา ส่งช้า (โดนขึ้น NP หรือ SP) ผู้สอบบัญชีมักมีเงื่อนไขหรือส่งสัญญาณผ่านรายงานผู้สอบบัญชี
- กระแสเงินสดการดำเนินงานติดลบต่อเนื่อง มักมาจาก Working Capital ที่เพิ่มมากจากการล้มเหลวในการบริหาร มี Turnover ที่ลดลง
ทำให้ Cash Cycle ยาวมากขึ้น
- มีการยืดเวลาชำระหนี้
ผัดผ่อนการจ่ายหนี้
- ขาดความสามารถคาดการณ์อนาคตจากข้อมูล ในแง่นักลงทุนใช้ข้อมูลคาดการณ์ได้ยากมาก
ในแง่ธุรกิจข้อมูลภายในใช้คาดการณ์ได้ไม่ดี ทำประมาณการได้ยาก
3. ระยะรุนแรง Temporary Bankruptcy - Liquidity
Problems การเกิดมาถึงระยะที่สองแล้ว ร่างกายมักทรุดตัวลงเร็วเข้าสู่ระยะที่สามคือ
- ผู้บริหารเสียเวลากับการจัดการปัญหาสภาพคล่อง เมื่อผู้บริหารใช้เวลาไปกับการแก้ไขปัญหาการเงิน
ย่อมเสียโอกาสในการวางแผนธุรกิจ มองโอกาสทางการตลาดหรือธุรกิจใหม่ๆ ยิ่งทำให้ขาดการขยายงาน
สร้างโอกาสใหม่ๆ จนปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง จะหลุดจากตำแน่งที่เคยโดดเด่นในอุตสาหกรรมได้ง่าย
ซึ่งเป็นอาการระยะที่หนึ่ง จะยิ่งตอกย้ำอาการของโรคยิ่งเด่นชัดขึ้น
- เงินทุนขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง สภาพที่พบในอาการระยะที่สองจะชัดเจน
CFO ที่ติดลบจากวงจรเงินสดที่ยาวแล้ว จะมาจากกำไรที่ลดลงด้วย
(ระยะสอง GM อาจยังดีอยู่ แต่ Net Working Capital เพิ่มมาก แต่ระยะนี้ GM จะลดลงมากด้วย
จนอาจถึงติดลบ) สถานะการณ์เช่นนี้มักจะทำให้กิจการต้องก่อหนี้ระยะสั้นมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
สัดส่วนหนี้ระยะสั้นจะเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันอาจเริ่มเกิดขาดทุน ทำให้กำไรสะสมลดลงซึ่งไม่ได้เกิดจากการจ่ายปันผล
ผมจะวัดด้วยอัตราส่วนกำไรสะสมต่อหนี้สิน (Retained Earnings / Debt < 70%
จะหมายถึงอาการไม่ค่อยดี)
- ถูกลดหรือตัดเครดิตทางการค้าหรือการกู้ยืม นี่คือผลตามมาจากผลที่เกิดขึ้น
- หนี้เมื่อถึงกำหนดชำระไม่สามารถชำระได้ นี่คือผลตามมาจากผลที่เกิดขึ้นเช่นกัน
4. ระยะปรากฏเป็นจริง หรือสุดท้าย Permanent Bankruptcy
และอาการสุดท้ายที่เกิดในระยะที่สามและหยุดไม่ได้คือสภาวะที่ดำเนินการต่อไม่ได้
- หนี้สินสูงกว่าสินทรัพย์ ปิดกิจการ ล้มละลาย หรือ ตายนั่นเอง
- ปรับโครงสร้างหนี้ เปรียบเหมือนผ่าตัดใหญ่ ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ที่นิยมทำคือ
ก. ตัดขายสินทรัพย์ใช้หนี้
เหมือนกับตัดชิ้นส่วนอวัยวะสำคัญออก
ข. ลดอัตราดอกเบี้ย
ยืดระยะเวลาจ่ายหนี้ หากเห็นว่ากิจการยังพอไปได้หากปรับเงื่อนไขลงบางส่วน
ค. ลดหรือตัดหนี้
(Hair Cut)
ง. แปลงหนี้เป็นทุน
เจ้าของยอมลดสัดส่วนในกิจการลงให้เจ้าหนี้มาควบคุมแทน
ผมไม่นิยมหรือรีบลงทุนในกิจการที่ปรับโครงสร้างหนี้หรือเพิ่งผ่าตัดใหญ่
เปรียบเหมือนคนนั่นแหละ การผ่านผ่าตัดใหญ่มาใหม่ๆ ไม่รับประกันว่าหายขาด หรือแข็งแรงดังเดิม
อย่างน้อยต้องพักฟื้นนานพอควร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น