วันพุธที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

การวิเคราะห์เชิงปริมาณ-การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ


การวิเคราะห์เชิงปริมาณ-การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ

ในการวิเคราะห์ธุรกิจ เราสามารถแบ่งเป็นสองแนวทางคือการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) และการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis)

        การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) ไม่ใช่เพียงดูและการอ่านงบการเงินเท่านั้น แต่ต้องวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน อ่านและวิเคราะห์โน้มให้เป็นด้วย หลายคนแค่อ่านงบและดูงบรู้เท่านั้น แต่ยังไม่ถึงขั้นการวิเคราะห์เชิงปริมาณได้อย่างแท้จริง ส่วนมากแค่ดูงบกำไรขาดทุน ดูกำไร เน้นแต่กำไรเป็นหลัก เทียบเพียงกำไรงวดต่องวด ปีต่อปี นั่นแค่ไว้เล่นระยะสั้น ลงทุนระยะยาวต้องอ่านและวิเคราะห์ได้ทั้งสามงบ และรู้จักใช้อัตราส่วนการเงินเป็น ตัวเลขในงบการเงินบอกได้หลากหลายมิติ ไม่ใช่เพียงอ่านข้อมูลอดีตเท่านั้นเหมือนที่คนส่วนมากเข้าใจ แต่หากเข้าใจแล้วก็เหมือนเจอลายแทงธุรกิจ มองได้ถึงอนาคต

          การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis) ไม่ใช่แค่การอ่านรายงานประจำปีและ F56-1 แต่คือการทำความเข้าใจธุรกิจ ขายอะไร ขายใคร การแข่งขันเป็นอย่างไร จุดอ่อนจุดแข็ง อำนาจต่อรองเป็นอย่างไร อะไรคือสินทรัพย์หลักหรือทรัพยากรที่สำคัญ รูปแบบธุรกิจควรเป็นอย่างไร นอกจากนี้ควรมองความเสี่ยงของธุรกิจให้ออกว่ามีอะไรกระทบบ้าง การเข้าใจเชิงคุณภาพจะช่วยให้เรามองตัวเลขเชิงปริมาณอย่างเข้าใจมากขึ้น และเสริมให้เราอ่านงบการเงินได้ขาดมากขึ้น

         การวิเคราะห์เชิงคุณภาพไม่ใช่รู้เพียงว่าขายอะไร แต่ต้องมองว่าสิ่งที่ขายมี Value Proposition การนำเสนอคุณค่าอะไรให้กับลูกค้า เพราะหมายถึงการรักษาการเติบโตของตัวเลขในงบการเงิน การรักษาฐานลูกค้า เครื่องมืออะไรที่ช่วยเราพิจารณาเชิงคุณภาพได้ครบถ้วนรอบด้าน ไม่หลุดในประเด็นสำคัญไป โดยเฉพาะการมองด้านความเสี่ยง ซึ่งนักลงทุนมักไม่มอง เรามักอ่านแค่ข้อดีว่า หุ้นนั้นๆ หุ้นนี้ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ การพิจารณาด้านความเสี่ยงประกอบ ทำให้เรามองความเป็นไปได้ของการเติบโตระยาวได้ดีขึ้น และลงทุนด้วยความระมัดระวัง (prudence) เครื่องมือที่จะทำให้เรามีกรอบการมองรอบด้านครบถ้วน ทั้งด้านดี ด้านที่กดดันธุรกิจและโอกาสในการแข่งขัน (Competitive advantage) คือ 5 Forces จะทำให้เข้าใจลักษณะธุรกิจนั้นๆ ว่าผลิตภัณฑ์และธุรกิจมีจุดแข็งหรือไม่ ขายให้ใคร ขายอย่างไร ทรัพยากรหลักคืออะไร ยอดขายจะโตอย่างไรจากอะไร รูปแบบรายได้ ต้นทุน และพันธมิตรหรือคู่ค้าเป็นใคร จึงควรต้องเข้าใจ Business Model Canvas และสุดท้ายจะมองความเสี่ยงที่กระทบบริษัทได้รอบด้านครบถ้วนก็ควรใช้กรอบเรื่อง Enterprise Risk Management Model (ERM-LEPESTO) เมื่อเราเอาทั้ง การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) และการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis) มาเชื่อมต่อสัมพันธ์กัน เราก็จะเข้าใจธุรกิจได้ลึกซึ้ง เข้าใจตัวเลขที่เป็นไป และจะเป็นไป

          ส่วนการวิเคราะห์ด้วยกราฟหรือทางเทคนิค คือการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงราคาและแนวโน้ม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงราคามาจากมุมมองของนักลงทุนที่มีต่อหุ้น อุตสาหกรรมและต่อตลาดทุน ซึ่งมีทั้งถูก ผิด เข้าใจ ไม่เข้าใจ ต่อข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้น จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนจิตวิทยาของนักลงทุนในตลาด แต่ในระยะยาวแล้วราคาหุ้นกับผลการดำเนินงานจะสะท้อนกันเสมอ เน้นนะครับว่าระยะยาว ไม่ใช่ข่าวกำไรไตรมาสหน้า ปีหน้า แต่หมายถึงห้าปีสิบปีข้างหน้า

          งบการเงินเป็นเพียงร่องรอยในการดำเนินธุรกิจ ทุกๆ เส้นทางที่ผ่านไปจะบ่งบอกหนทางที่กำลังเดินเสมอ เหมือนกับเวลาเราเข้าป่าล่าสัตว์ ร่องรอยที่เห็นเราจะรู้ได้ว่าเป็นของสัตว์ชนิดใด เดินมุ่งหน้าไปทางใด ตัวเล็กตัวใหญ่เพียงใด หากเราเป็นพรานป่าผู้เชี่ยวชาญแล้ว ไม่ยากเลยที่จะตามรอยเป้าหมาย

          งบการเงินจึงสะท้อนได้ถึงราคาและความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่มีต่อกิจการ ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่าคนลงทุนแท้จริงในตลาดหุ้นคือผู้ลงทุนระยะยาว ตราบใดที่นักลงทุนระยะยาวนี้ยังคงมั่นใจในผลประกอบการระยะยาวราคาหุ้นก็จะไม่ลดลงแรงเพราะเมื่อราคาปรับลงต่ำกว่าผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้ในอนาคต คนที่เชื่อมั่นก็กล้าพอที่จะลงทุนในระดับราคาที่ลดลงมา ดังนั้นหากงบการเงินสะท้อนถึงความอ่อนแอ ความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงาน ในระยะยาวย่อมไม่มีผู้ที่จะมาลงทุนต่อเนื่อง ระดับราคาหุ้นก็จะลดลง แม้จะขึ้นให้เห็นก็จะพบว่าเกิดในช่วงสั้นๆ ไม่กี่เดือน เพราะนักลงทุนที่นิยมเล่นข่าวสั้นๆ สุดท้ายจะรีบขายทันทีที่ทำกำไรได้ ราคาก็ยากที่จะยืนอย่างยั่งยืน สรุปได้ว่างบการเงินที่ดี และหากอ่านและมองธุรกิจผ่านตัวเลขทางบัญชีที่ถือเป็นภาษาของธุรกิจได้เป็นแล้ว ถูกต้องแล้ว ตัวเลขงบการเงินจะบ่งชี้แนวโน้มระยะยาวเสมอ ยังไม่เคยพบกิจการใดขาดทุนยาวนานหรือตกต่ำต่อเนื่องมากกว่าห้าหกปีจนใกล้ล้มละลาย แต่ราคาหุ้นในห้าหกปีนั้นขึ้นอย่างแข็งแกร่งมั่งคงสวนทางผลประกอบการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น