วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559

Breakdown P/E และ Growth Concept


Breakdown P/E และ Growth Concept

พอดีได้อ่านเรื่องความสัมพันธ์ P/E, P/BV และ ROE น่าสนใจครับ และส่วนตัวก็ใช้ดูคร่าวๆ เหมือนกัน แต่ก็ต้องบอกหลายคนว่า ต้องเข้าใจนะครับว่ามันใช้เป็น indicator ได้ แต่อย่าเอาตัวเลขไปใช้ตรงๆนะครับ เพราะ ROE จริงๆ ไม่ใช่  (P/BV) / (P/E)   แต่เท่ากับ กำไรสุทธิ หาร ส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย ซึ่งตัวเลขออกมานั้น ค่าของ (P/BV) / (P/E)   จะออกมาต่ำกว่าหรือสูงกว่าเพราะ ROE ของวิธีดังกล่าวคือ E/BV = กำไรหารด้วยมูลค่าตามบัญชี ณ วันสิ้นงวดล่าสุดซึ่งไม่ได้เฉลี่ย การนำไปใช้ควรดูในลักษณะแนวโน้มว่าเพิ่มขึ้น ดีขึ้น หรือว่าลดลง แย่ลง ในกลุ่มดียวกัน ใครมากกว่าหรือน้อยกว่า เช่น SCP 27/04/59 P/E = 9.01,  P/BV =1.68, ROE ล่าสุด ปี 2558 = 19.62%  ซึ่ง PBV/PE = 1.68/9.01 = 18.65% จะเห็นว่าต่างกัน ต่ำกว่าที่คำนวณจากงบเล็กน้อย เราเอาไว้ใช้ประเมินกว้างๆ คร่าวๆ ได้ครับคนที่ใช้บ่อยๆ จะรู้ว่าต้องบวกลบเล็กน้อยราว 1-2% สิ่งสำคัญคงไม่ได้อยู่เพียงทั้งสามค่ามีความสัมพันธ์กันอย่างเดียว แต่มันบ่งบอกบางอย่างได้ด้วย จากก่อนหน้า

Earning Yield (k)   =   E/P   =   กำไรต่อหุ้นหารราคา   =   1/PE หรือส่วนกลับ P/E   

บริษัททำกำไรเท่าไรเมื่อเทียบกับราคาหุ้น และจากความสัมพันธ์ P/E, P/BV และ ROE

ROE   =   (P/BV) / (P/E)   =   P/BV * E/P   =   Earnings Yield * P/BV

P   =    BV * ROE/Earnings Yield

ราคาหุ้น จึงขึ้นกับมูลค่าหุ้นตามบัญชีคูณกับ ความสามารถในการทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นเหนือกว่าอัตราการทำกำไรของบริษัทเมื่อเทียบราคา

ดังนั้นบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นสูงกว่า Earning Yield ยิ่งมาก ย่อมมีราคาที่มากตามไปด้วย (Earning Yield นี้ให้มองที่ Expected Earning Yield)



จากที่เคยกล่าวไว้ว่า สูตร Franchise P/E คือ P/E Ratio < Earnings Yield + Growth Rate หรือ

P/E = Tangible P/E + Franchise P/E = (1/k) + (EF*G)

หรือ เขียนเต็มๆ ใหม่ว่า = (1/k) + [{(1/k) - (1/ROE)}* g/(k-g)]

Tangible P/E = (1/k) ส่วนกลับ Earning Yield

Franchise P/E = Franchise Factor (FF) x Growth Factor (G)

Franchise Factor (FF) = {(1/k) - (1/ROE)}

Growth Factor (G) = g/(k-g) = g/ Dividend Yield

When (k-g) = Dividend Yield

ซึ่งเป็นอีกสูตรหนึ่งในการหา P/E โดยไม่ต้องใช้ค่า payout ratio

ปกติเรากำหนดค่า P/E โดยใช้ค่าอัตราปันผลจ่าย หรือ  P/E   =   Payout ratio / Dividend Yield



ทั้งสองสูตรยังคงยึดหลัก g = ROE * (1 - Payout ratio) = Sustainable Growth

ซึ่งตรงนี่สำคัญที่สุดที่ต้องเข้าใจไม่ใช่ growth อะไรก็ได้ใส่มั่วๆ เข้าไป บริษัทได้ ROE ปีละ 15% จะให้มี sustainable growth ปีละ 25% ย่อมเป็นไปไม่ได้  การเพิ่มการเติบโตทำได้ ซึ่งในทางการเงินทำได้สี่วิธีคือ เพิ่ม Leverage (เพิ่ม D/E) ปรับอัตราจ่ายปันผล เพิ่มทุน หรือเพิ่ม ROE (เพิ่มความสามารถทำกำไร)



g หรือการเติบโตในความหมายทางการเงิน ทั่วไปคือ การเติบโตของกำไร โดยมีสมมติฐานว่าบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรต่างๆคงที่ คือ GM OM NM AT คงที่ วงจรเงินสดก็คงที่ ดังนั้นการเติบโตของกำไรก็คือการเติบโตของยอดขายนั่นเอง สินทรัพย์คือที่มาของยอดขาย สินทรัพย์โดยทั่วไปเพิ่มขึ้นจากกำไรสะสมที่กิจการเก็บกำไรไว้ไม่จ่ายคืนผู้ถือหุ้นไปทั้งหมด retain earnings นี้เองที่ทำให้เกิด sustainable growth มี D/E คงที่ ค่า D/E ที่คงที่ไม่เพิ่มไม่ลด ย่อมทำให้ค่า expected return ของผู้ถือหุ้นคงที่ (beta คงที่เมื่อ D/E คงที่) บริษัทที่สร้าง ROE สูง ย่อมสร้างการเติบโตได้มากจากกำไรที่เก็บไว้ไม่จ่ายปันผล g จึงเท่ากับ ROE * (1-payout)



กำไรที่เก็บไว้มาก ROE ก็สูงย่อมมีแนวโน้มเติบโตได้เร็ว เพราะเอากำไรไปลงทุนสร้างสินทรัพย์ โดยหลักการทั่วไปถ้าสินทรัพย์โต ยอดขายจะเพิ่มตาม (ประสิทธิภาพ turnover ต่างๆ คงที่ AT FAT A/RT IT A/PT) ดังนั้นการที่บางกิจการขยายตัวโดยการกู้ แน่นอนว่าสินทรัพย์โต ROE จะเพิ่ม แต่การที่มี D/E สูงขึ้น ค่า expected return ของผู้ถือหุ้นจะเพิ่มขึ้น (ตามทฤษฎี CAPM-beta สูงขึ้นจาก D/E เพิ่ม)

P/E  = (1/k) + [{(1/k) - (1/ROE)}* g/(k-g)]

จากสมการ Franchise P/E = [{(1/k) - (1/ROE)}* g/(k-g)]

ถ้าพิจารณากว้างๆ ค่า k ที่มากขึ้นพร้อมๆกับค่า ROE ที่เพิ่ม ย่อมไม่ได้เพิ่ม Franchise P/E เลย การกู้ให้เกิด D/E  มากๆ เพื่อเติบโต ไม่เพิ่มมูลค่าเท่าใด (ยกเว้นอัตรา D/E ต่ำกว่าค่าที่ควรเป็น)



การเติบโตโดยการเพิ่มสัดส่วน D/E จึงไม่เกิดประโยชน์ การเพิ่ม ROE ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการแข่งขันที่สูงขึ้น ถ้าไม่มี Moats ที่แข็งแรงการสร้างความสามารถในการทำกำไรที่ยั่งยืนยาวนานย่อมยากมาก (ส่วนมากทำได้เพียงสั้นๆ ไม่กี่ปี่) ส่วนการปรับอัตราจ่ายปันผลก็เกิด conflict of interest ระหว่างนักลงทุนกับกิจการ คนลงทุนก็คาดหวังเงินปันผลที่เพียงพอในระดับที่คาดหวัง สุดท้ายถ้าจะเพิ่มทุนเพื่อขยายกิจการ ก็ตอบคำถามนักลงทุน (ผู้ถือหุ้น) ว่าเขาจะได้อะไร คุ้มหรือไม่ในการลงทุนหากเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่น (ถ้าต้องเอาเงินมาจม)



ในทางทฤษฎี ควรจะเพิ่มทุนหรือจ่ายปันผลเท่าใดต้องพิจารณาว่า g-i > g-s

g-i   =   industry growth การเติบโตของอุตสาหกรรม

g-s   =   sustainable growth การเติบโตภายในของธุรกิจ

ถ้าอุตสาหกรรมโตมากกว่า sustainable growth เช่นอุตสาหกรรมโต 20% กิจการมี ROE 25% จ่ายปันผลในอัตราปีละ 40%

g-s = 25% * ( 1-0.4) = 15%  <   g-i 20% ยอดขายโต 20%

กิจการเก็บกำไรไว้ยอดขายโตเพียง 15% ทำไม่พอขาย ส่วนแบ่งตลาดจะหายไป ผู้ถือหุ้นยินดีเพิ่มทุนเพราะจะได้ปันผลเพิ่มขึ้น แบบนี้เพิ่มทุนผู้ถือหุ้นโอเค

อีกแนวทางก็คือปรับอัตราจ่ายปันผลลงเหลือ 20%  g-s  =  25% * (1-0.2)  = 20% ยอมลดอัตราจ่ายปันผลลงเพิ่อไปรับเม็ดเงินปันผลที่มากขึ้นในวันข้างหน้า

ดังนั้นการเพิ่มทุนต้องเพิ่มเมื่อ g-i > g-s จึงดีที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น