วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559

งบการเงินเปรียบเหมือน transcript ของธุรกิจ


งบการเงินเปรียบเหมือน transcript ของธุรกิจเป็นแผนที่ เป็น resume ของกิจการ สามารถบอกและให้คนใช้งบการเงินเข้าใจถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดและจะเกิดได้ แบ่งรายงานออกเป็น 3 ด้านหลักๆ ที่สำคัญที่ต้องดูคือ

1.          งบแสดงฐานะการเงิน Financial Position – Wealth รายงานนี้บอกให้รู้ว่า ณ เวลานั้นๆ มี สินทรัพย์อยู่เท่าใด หนี้สินมีอะไรเท่าใด เป็นของเจ้าของเหลือเท่าใด งบแสดงฐานะการเงินก็เปรียบเหมือนภาพถ่ายธุรกิจเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น ณ 31 ธันวาคม 2557 เมื่อดูงบแสดงฐานะการเงิน จะแสดง ณ วันที่นั้น ก็หมายความว่าวันนั้นบริษัทมีอะไรอยู่บ้างที่เป็นทรัพยากรบริษัท โดยในรายงานจะแบ่งเป็นสินทรัพย์สองกลุ่มคือ หมุนเวียนและไม่หมุนเวียน โดยมีเกณฑ์แบ่งคือ หนุนเวียนคือทรัพยากรหรือสินทรัพย์ที่เห็นในงบแสดงฐานะการเงินสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสด หรือใช้ประโยชน์หมดใน 1 ปี การจัดเรียงลำดับก็เรียงรายการที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วที่สุดจนถึงช้าที่สุดโดยคร่าวๆ  และไม่หมุนเวียนก็คือทรัพยากรที่ใช้ในการสร้างรายได้ หรือมีไว้เพื่อที่จะเปลี่ยนเป็นเงินสดในอนาคต

งบแสดงฐานะการเงินนั้นเป็นภาพถ่าย เปรียบได้กับการกดชัตเตอร์ตอนสิ้นปีบัญชี เพื่อดูว่าตอนนี้บริษัทมีสินทรัพย์และหนี้สินอยู่เท่าไรแล้ว (และส่วนต่างจากสินทรัพย์กับหนี้สินก็คือส่วนของผู้ถือหุ้นนั่นเอง) เพราะฉะนั้นเวลาอ่านงบ ก็ดูทีละส่วนด้านสินทรัพย์มีอะไร เหมือนมองภาพถ่ายรูปคนๆหนึ่งว่าที่เห็น ณ เวลานี้มีอะไรบ้าง ปีก่อนมีอะไร มูลค่าเท่าไร ปีต่อมาของอย่างเดียวกันมูลค่าเป็นเท่าไร เมื่อวิเคราะห์ควรใช้การมองจากภาพรวม ดูว่ายอดรวมก่อนว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไร แล้วจึงค่อยมองว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมาจากอะไรเป็นตัวหลัก (เราจะมาอธิบายกันภายหลัง)

2.  งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ Comprehensive Income Statement (I/S – Successful Effort) รายงานนี้บอกให้รู้ว่างวดนี้ทำมาหาได้เท่าไร มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเท่าใด ซึ่งงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จนี้แยกเป็นสองส่วนหรือสองท่อนคือ

-        ส่วนบนหรือท่อนบน คืองบกำไรขาดทุนสำหรับงวด ส่วนนี้จะแสดงถึงการทำมาหาได้ของงวด ขายอะไร มีรายได้มาจากอะไร ต้นทุนของที่ขาย  จ่ายอะไรไปบ้าง เหลือเป็นกำไรเท่าไร มองง่ายๆ เหมือนเราเปิดร้านขายอาหาร วันนี้ขายได้เท่าไร หักเป็นค่าของที่ทำอาหารเท่าไร (ต้นทุนขาย) ค่าลูกจ้างในร้าน ค่าเช่าร้าน (ขายและบริหาร) ถ้าไปกู้เงินมาทำร้าน ก็จ่ายดอกเบี้ย (ต้นทุนการเงิน) หักแล้วเหลือเท่าไรก็คือกำไรเป็นต้น นี่คือส่วนที่หนึ่งเอาแค่ที่ทำมาหากินจริงเท่านั้น ถ้าขายโต๊ะไปในระหว่างงวด ก็ลงกำไรขาดทุนจากการขาย

-        ส่วนล่างหรือท่อนล่าง OCI (Other Comprehensive Income) ส่วนนี้ไว้แสดงการเพิ่มขึ้นในส่วนเจ้าของที่ไม่ถือเป็นกำไรของงวด ส่วนมากก็คือการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินทรัพย์ในงวดนั้นๆ ไม่ได้เกิดจากการทำมาหากินแต่อย่างใด แต่เจ้าของมั่งคั่งขึ้นเนื่องจากสินทรัพย์หรือทรัพยากรบริษัทมีราคาสูงขึ้น เช่นสมมติเหมือนเดิมว่าเราเปิดร้านขายอาหาร ปรากฏว่า ร้านของเรามีรถไฟฟ้าผ่าน ทำให้ร้านเรามีราคามากขึ้น ส่วนมูลค่าที่เพิ่มนี้เราอยากแสดงให้รู้ว่า เรามั่งคั่งขึ้น บัญชีบอกอยากแสดงก็ให้แสดงได้ แต่ไม่ให้ถือเป็นการดำเนินงาน (กำไรจากการทำมาหากิน) กำไรจากส่วนนี้ไม่นับรวมใน EPS (กำไรต่อหุ้น)

งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จหรือเรียกย่อๆว่างบกำไรขาดทุนเปรียบเหมือนการถ่ายภาพยนตร์เคลื่อนไหว งบกำไรขาดทุนจะแสดงเป็นรายการของงวด หรือช่วงเวลา เช่นระบุว่าสำหรับงวดปีสิ้นสุดเพียง 31 ธันวาคม 2557 ก็หมายถึงรายได้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ คือ การเกิดขึ้นในช่วง 1 ปี ถึง 31 ธันวาคม 2557 ก็คือ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2557 นั่นเอง ที่เปรียบเป็นภาพเคลื่อนไหวเพราะข้อมูลที่เห็นเป็นข้อมูลที่เป็นช่วงเวลา ไม่ใช่ ณ วันเดียวเหมือนงบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุนบอกให้รู้ว่าทั้งปีทำอะไร ส่วนงบแสดงฐานะบอกให้รู้ว่าวันนั้นมีอะไร

งบแสดงฐานะการเงินและงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ เปรียบเหมือนตัวเอกของเรื่อง การวิเคราะห์เบื้องต้นมักต้องใช้ทั้งสองงบนี้ควบคู่กัน จะดูงบการเงินใดเพียงงบการเงินเดียวจะไม่สมบูรณ์ การดูเพียงกำไรไม่เพียงพอ เพราะเท่ากับแค่การเก็งกำไรราคาหุ้นจากกำไรเท่านั้นแต่ไม่ใช่การลงทุนระยะยาว เพราะที่มาที่ไปของรายได้ มาจากโครงสร้างสินทรัพย์ที่มี การสร้างรายได้ที่ยั่งยืนย่อมมาจากธุรกิจมีทรัพยากรที่ดีในการสร้างรายได้ในอนาคต

3.          งบกระแสเงินสด (Statement of Cash flows) – Survival งบกระแสเงินสดบอกให้รู้ว่างวดนี้ (ตั้งแต่ต้นปี) มีเงินเข้ามาจากอะไร ขายของทำมาหากินได้มาเท่าไรในรูปเงินสด หรือได้เงินมาจากการขายสินทรัพย์ (สมบัติ) หรือมีเงินใช้เพราะกู้มาส่วนใหญ่ เงินที่ได้มาเอาไปทำอะไร ขายของเข้าเนื้อ? เอาไปซื้อสินทรัพย์ หรือเอาไปจ่ายหนี้ จ่ายปันผล เท่าไร เป็นต้น

ดังนั้นงบกระแสเงินสดจึงแบ่งการได้เงิน-ใช้เงินเป็น 3 เรื่อง คือ

1.           ทำมาหากิน (กิจกรรมดำเนินงาน- Operating Activities) การทำมาหากินเอามาจากการขายของหรือบริการ ได้ในรูปเงินสด แล้วมาใช้จ่ายในกิจการ เหลือเท่าไร แสดงเฉพาะที่เป็นเงินรับสุทธิจากการดำเนินงานหรือทำมาหากินจริงๆ ขายที่ดิน ขายตึก ขายรถไม่นับว่าเกิดจากการทำมาหากิน มองง่ายๆ เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวก็นับเงินรับจาการขายก๋วยเตี๋ยวขายเก้าอี้ ขายจานชาม ตะเกียบไม่นับในกิจกรรมนี้เป็นการดำเนินงาน กำไรขาดทุนจากการขาย เก้าอี้ จาน ชามและตะเกียบ ลงเป็นกำไรขาดทุนของงวด แต่เงินสดรับงวดนี้ แต่ไม่นับเป็นกิจกรรมดำเนินงาน มีกำไรในงวดจากการขายเก้าอี้ถูกต้องแต่ไม่ใช่การดำเนินงาน

2.           การลงทุน (กิจกรรมการลงทุน- Investing Activities) รวมถึงดอกผลจากการลงทุน ดอกเบี้ยรับ เงินปันผลรับ เงินที่จ่ายไปเพื่อลงทุนในเงินลงทุนต่างๆ ทั้งสั้นและยาว ที่ลงทุนในที่ดินอาคารและอุปกรณ์ หรือจะเอาสินทรัพย์ที่ลงทุนไว้ไปขาย จะเป็นเงินลงทุนระยะสั้นหรือยาว สินทรัพย์ในที่ดินอาคารและอุปกรณ์ไปขาย การรับหรือจ่ายจะแยกกันและไม่แยกกำไร แต่รวมในเงินสดรับทั้งหมด  จะขายกำไรหรือขาดทุนไม่แยกออกมา ส่วนกำไรหรือขาดทุนไปแสดงในงบกำไรขาดทุน หากมองการขายสินทรัพย์ออกว่าจะตีความว่าเพราะบริษัทเงินตึงตัว จึงต้องขายสมบัติ (เปิดท้ายขายของ) เพื่อเอาเงินมาใช้จ่าย

3.           จากการกู้ยืม และที่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้น (กิจกรรมการจัดหาเงิน- Financing Activities) เช่นจ่ายปันผลที่เป็นเงินสด กู้เงิน จ่ายคืนเงินกู้ ส่วนนี้บอกให้รู้ว่าได้เงินมาจากการกู้เท่าไร และคืนเท่าไรระหว่างงวด การกู้ยืมกับการคืนเงินกู้จะแยกกันไม่เอามาหักกลบกัน ทำให้เราเห็นกระแสการไหลเวียนของเงินชัดเจน บางครั้งหนี้ไม่เพิ่มขึ้น แต่งบกระแสเงินสดบอกให้รู้ว่ามีการ refinance เพราะการคืนและยืมในงวดพอๆกัน ยกเว้นเงินกู้ระยะสั้นที่ให้แสดงยอดสุทธิที่หักกลบลบกันได้ รายการเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินมักจะหมายถึงเงินกู้ O/D นั่นเอง สรุปสั้นๆ ง่ายๆ คือหาเงินมาหมุนด้วยการกู้ยืมมาใช้จ่าย หากไม่เช่นนั้นก็ต้องแบมือขอผู้ถือหุ้น (เพิ่มทุน) ส่วนการจ่ายคืนเงินปันผลก็แสดงว่าทำมาหากินแล้วมีเหลือคืนผู้ถือหุ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น