วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ดัชนีชี้วัดความเสี่ยงทางการคลัง


ดัชนีชี้วัดความเสี่ยงทางการคลัง

จากบทความก่อนหน้า ที่ผมใช้ค่า Ruang Alarm = ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP มาบวกเข้าด้วยกัน 3 ปีล่าสุด เพื่อดูว่าเราเข้าใกล้วิกฤติทางเศรษฐกิจหรือไม่

คราวนี้มาวัดความเสี่ยงทางการคลังกัน

1. เคยสงสัยกันบ้างไหมครับว่าทำไม กรีซ ซึ่งมีหนี้สาธารณะต่อ จีดีพี ที่ 160% หรือ อิตาลีที่ 120% กลับพบกับวิกฤติการคลังแบบเป็นเรื่องเป็นราว หนักหนาสาหัสกว่า ญี่ปุ่น ซึ่งมีตัวเลขนี้อยู่ที่ 220%

 2. ผมได้อ่านบทความของคุณ คุณประวิทย์ เรืองศิริกูลชัย “การคลังไท้เก๊ก” (Taiji Fiscal) ซึ่งได้นำเสนอดัชนีที่ชื่อ Ruangsirikulchai Index เพื่อชี้ความเสี่ยงการคลังของประเทศต่างๆ โดยนำเอา ค่าหนี้สาธารณะ ต่อ GDP คูณด้วย ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี

3. โดยมีแนวคิดว่า ประเทศเหล่านี้หากรีไฟแนนซ์เป็นหนี้ระยะยาว 10 ปีทั้งหมด ณ ปัจจุบันแล้ว จะต้องเสียเฉพาะค่าดอกเบี้ยจ่าย คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของ GDP โดยส่วนใหญ่แล้วเงินตรงนี้จะจ่ายไปยัง กองทุนบำนาญทั้งใน และ ต่างประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาล และ เงินนี้ก็จะจมไปกับกองทุนไม่ออกมาหมุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเป็นการสูญเสียทางการคลังแบบเปล่าประโยชน์ ค่าเหล่านี้หาได้ง่ายและมีการเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน ทำให้ update ต่อสถานการณ์การคลัง

4. Ruangsirikulchai Index = Pulbic Debt/GDP * 10 Yr Gov.Bond Yield

5. ค่านี้หากต่ำกว่า 1.5% หมายถึง รัฐบาลไม่มีภาระหนักหนานักในการจ่ายดอกเบี้ย ความเสี่ยงการคลังยังอยู่ในระดับต่ำ ประเทศไทยมีค่านี้อยู่ที่ 1.3% เท่านั้น (43% * 3% = 1.29%)

6. ค่านี้หากอยู่ระหว่าง 1.5-3% หมายถึง มีความเสี่ยงของการคลังอยู่ในระดับปานกลาง

7. หากค่านี้อยู่ระหว่าง 3-5 % หมายถึง ความเสี่ยงทางการคลังอยู่ในระดับสูง ต้องรีบรัดเข็มขัดพร้อม ๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจโดยด่วน  

8. หากค่านี้อยู่ระหว่าง 5-10% หมายถึง ความเสี่ยงทางการคลังอยู่ในระดับสูงมาก ๆ ต้องรีบรัดเข็มขัดพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจโดยด่วนที่สุด รอช้าไม่ได้เลย ที่จริงเมื่อเริ่มสูงกว่า 3 ก็ต้องเริ่มแล้ว ถ้ายังเกิน 5% อีก ต้องใช้นโยบายที่ฉีดยาแรงขึ้น อาจถึงต้องคีโมกันเลย

9. และหากค่านี้สูงกว่า 10% หมายถึง ความเสี่ยงทางการคลังอยู่ในระดับสูงมาก ๆ ที่สุด ประเทศเข้าข่าย "ล้มละลายทางการคลัง" จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากภายนอก โดยเฉพาะ IMF เช่น กรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์

10. สำหรับกรีซนั้น ดัชนีนี่อยู่ที่ราว 56% ซึ่งสูงแบบเหลือเชื่อ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าประเทศนี้จึงเข้าขั้น “ล้มละลาย” แล้ว โดยที่แม้รัฐบาลพยายามจะลดการขาดดุลการคลังลง ตามแผนก็คือการลดได้จาก 12.7% GDP เหลือ 8.7% GDP ซึ่งก็ยังเป็นระดับสูงอยู่ดี และ GDP ยังมีแนวโน้มจะลดลงด้วยจากมาตรการรัดเข็มขัดการคลัง จึงพบกับการประท้วงหยุดงานไปทั่วประเทศ

11. ดัชนีนี้สำหรับประเทศ อังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วขนาดใหญ่นั้น ก็อยู่ในระดับต่ำกว่า “3” ซึ่งเป็นระดับที่อันตรายปานกลาง แม้จะยังไม่เข้าขั้นวิกฤติ ควรเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤติการคลังในอนาคตได้

12. ปัจจุบันจะพบว่าตัวแปรทั้ง 3 ตัว คือ ตัวเลขหนี้สาธารณะนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นอาจสูงขึ้นไปอีกจากการขาดดุลการคลัง สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว ตัว GDP นั้นมีแนวโน้มยืนๆ หรืออาจลงลงได้หากประเมินว่ามีความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดและ การรัดเข็มขัด รวมถึงตัวแปรผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีนั้นก็อาจสูงขึ้นได้จากความเสี่ยงทางการคลังที่เพิ่มสูงขึ้นและ การไหลออกของเงินทุนไปยังต่างประเทศ

13. สำหรับประเทศไทยยังอยู่ที่ 1.3% เท่านั้น หมายถึงความความเสี่ยงทางการคลังของเรายังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ จึงอาจยังสามารถใช้นโยบายขาดดุลการคลังได้อีกหลายปี  แต่ไทยก็อาจได้รับผลกระทบจาก วิกฤติในต่างประเทศมากระทบได้

แนวคิดเครดิต : taiji - econ by ประวิทย์ เรืองศิริกูลชัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น