วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

การเปลี่ยนแปลงทางการบัญชี การออกมาตรฐานใหม่ จะวิเคราะห์อย่างไร


การเปลี่ยนแปลงทางการบัญชี การออกมาตรฐานใหม่ จะวิเคราะห์อย่างไร

ระยะนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางมาตรฐานบัญชีที่จะบังคับใช้ในปีนี้ และอนาคตในหลายเรื่อง ทั้งและบางเรื่องเป็นการเปลี่ยนแลงทางสมมติฐาน เช่น พ.ร.บ. เรื่องการจ่ายชดเชยที่ให้จ่ายชดเชยพนักงานเมื่อเกษียณเป็น 400 วัน ปีนี้ก็มีการบังคับใช้ TFRS 15 รายได้ (IFRS 15 Customer Contract Revenue) ปีต่อ ๆไป ก็จะมีอีกหลายฉบับตามมาเช่น เรื่องสัญญาเช่า หรือ TFRS 9 ที่กระทบกับการตั้งหนี้สงสัยจะสูญ (ที่สร้างอารมณ์หวาดกลัวผลกระทบจนเว่อร์มากเกินไป มันกระทบมากน้อยหรืออาจไม่กระทบก็ได้ต้องดูเป็นแต่ละธนาคารไป)

ผลที่ตามมาคือ แล้วจะวิเคราะห์งบต่อเนื่องอย่างไรยิ่งถ้าวิเคราะห์ย้อนหลังเปรียบเทียบยาวๆ หลายปี ซึ่งใช้มาตฐานที่แตกต่าง เมื่อใช้งบย้อนหลังที่ใช้แนวปฏิบัติอย่างหนึ่ง หลังจากนั้นใช้อีกอย่างหนึ่ง บอกเลยครับว่าไม่ต้องกังวล นำงบที่ออกแล้วซึ่งตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีมาใช้ได้เลยทุกปีตามเดิม ถ้าดาวโหลดงบจาก SETSMART ของทางตลาดที่ให้ได้ ห้าปี หรือจากเว็ปใดที่มีงบต่อเนื่องมากกว่านั้นก็ใช้ได้ ไม่ต้องกังวลเพราะ

1. อัตราส่วนที่วิเคราะห์จากการงบการเงินที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน จะสามารถกระทบฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานได้สองลักษณะคือกระทบมาก และกระทบน้อย

2. ถ้ากระทบในงบแสดงฐานะการเงิน เราจะควรตีความหมายอัตราส่วนที่เปลี่ยนมากแสดงว่ากิจการนั้นในอดีตแสดงหนี้สินหรือสินทรัพย์น้อยเกินความเป็นจริงมาก ถ้าน้อยแสดงว่ามาตรฐานไม่ได้มีนัยยะใดต่อธุรกิจ หรือธุรกิจนั้นไม่ได้มีอะไรที่ผิดปกติ จำไว้อย่างครับว่า การออกหรือเปลี่ยนมาตรฐานเพราะว่าอุตสาหกรรมมีธุรกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้หลายกิจการใช้ช่องทางบัญชีทำ Creative Accounting เพื่อสร้างหรือหลบซ่อนให้แสดงฐานะที่ดีเกินจริง กิจการที่ไม่ทำรายการซับซ้อนซ่อนเงื่อน จะไม่ได้รับผลกระทบมากแต่อย่างใด

3. ยกตัวอย่างเช่น การรับรู้รายได้ของอสังหาริมทรัพย์อดีต (ก่อนปี 2554) ที่สามรถจะเลือกปฏิบัติได้จะรับรู้เมื่อโอน (ทั้งจำนวน) หรือตามสัดส่วนงาน (ตามความก้าวหน้างาน) มาเหลือเพียงแบบเดียวคือรับรู้ทั้งจำนวนเมื่อโอน จากรายได้ที่ดูค่อนข้างคงที่ หลังการเปลี่ยน

4. หรือราวก่อนนั้นช่วงปี 2542-3543 ที่มีการใช้มาตรฐานเรื่องการด้อยค่ามาใช้ (ตอนนี้กลายเป็นเรื่องปกติแล้ว) ตลาดก็มีการตระหนกตกใจเช่นกัน หุ้นก็ผันผวน แต่สุดท้ายก็เข้าสู่ปกติผมยังไม่พบว่าหุ้นใดในระยะยาวที่ดี จะเปลี่ยนทิศทางลงเพราะมาตรฐานเลย

5. เช่นด้อยค่า ถ้าลงทุนด้วยการตัดสินใจทางธุรกิจที่ถูกต้องก็ไม่มีทางด้อยค่าแน่นอน มาตรฐานเพียงแค่ทำให้กิจการแสดงมูลค่าสินทรัพย์ให้เหมาะสมกับผลตอบแทนที่ควรได้เท่านั้น

6. ดังนั้นวิเคราะห์ไปตามหลัก ถ้าอัตราส่วนกิจการใดผันผวนมากเมื่อมีการปรับใช้มาตรฐานบัญชี ในช่วงนั้น แสดงว่ามีความไม่เหมาะสมในการดำเนินการโดยเฉพาะนโยบาย (กลยุทธ์) มาตรฐานเรื่องรายได้ก็ไม่ต้องไปวิตก อันนั้นเป็นปัญหาของนักบัญชีเท่านั้น กิจการทั่วไปน้อยมาก ๆ คงไม่มีค้าปลีกหรือบริษัทใด ขายสินค้า 100 บาท แถมบัตรลดเงินสด (หรือแสตมป์) ครั้งหน้า 80 แบบนี้รายได้ถูกปันส่วนไปเป็นหนี้สิน (รายได้รอตัด) มากแน่ ส่วนมากน้อย หรืออาจขายรวมแพ็คเกจ อาจมีรายได้บริการแถมในสัดส่วนที่ไม่ได้มีสาระสำคัญมาก จนอัตราส่วนผลิกผันจากเดิมอย่างมีนัยยะ ถ้าขายรวมแล้วให้ส่วนลด มาตรฐานบอกต้องมาแยกปันส่วนก็ไม่ได้มีผลเลย เพราะปันส่วนอย่างไร เวลาวิเคราะห์อัตราส่วน เราใช้ยอดรวมขายเราไม่ได้ใช้ยอดขายสินค้า A B C แยกกัน (แต่จ่ายเงินรวมเท่าที่เรียกเก็บ) เราใช้ยอดรวมสามสินค้า ดังนั้นมันจะปันไปที่ตัวใดมากน้อยก็เท่าเดิมในยอดรวม (เช่นใครเข้าใจสูตร AT ART) จะเข้าใจว่าไม่มีผลอะไรมากเลย และอย่างที่บอก กรณีที่ขายแบบซื้อครบ 10 ชิ้นแถม 1 ชิ้น ในทางปฏิบัติจริง มักจะจบในไตรมาสหรือปี ที่จริงจะบันทึกอย่างไรจะมีผลต่องบน้อยมาก เพราะส่วนมาก โปรแกรมการตลาดเหล่านี้จะไม่ได้เนิ่นนานยาวหลายปีและครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ และเป็นกลยุทธ์ในบางสินค้าที่บริษัทต้องการเพิ่มส่วนแบ่งหรือรักษาส่วนแบ่งการตลาดในช่วงหนึ่งเท่านั้น และรายได้รอตัดที่มาตั้งเป็นหนี้สินสุดท้ายจะกลับรายการมาบันทึกเป็นรายได้ภายหลัง สรุปคือไม่ให้รีบลงรายได้ก่อน แต่ให้ทยอยรับรู้ภายหลัง และดังที่กล่าวไว้ มักไม่ได้มีสัดส่วนมากอย่างมีนัยสำคัญ

7. ความจริงถ้าอธิบายในทุกมาตรฐานจะยาวมาก แต่สรุปคือ กิจการที่ดีจะมีผลกระทบน้อยมาก วิเคราะห์ตามปกติ มาตรฐานบัญชีไม่ได้ทำให้กิจการที่ดีเปลี่ยนทิศทางธุรกิจแต่อย่างใด  ที่ดีก็ไม่กระทบ ที่แย่อย่างไรมาตรฐานแค่มาเปิดเผยความจริงที่ซ่อนให้ปรากฎชัดเท่านั้น เพียงแต่ต้องอ่านงบให้เข้าใจ เช่น หนี้สินต่อทุนทางทฤษฎีคือ Debt ไม่ใช่ Liability รายได้รอตัด หนี้สินผลประโยชน์พนักงาน หรือหนี้สินจากสิทธิ์ในสัญญาเช่าระยะยาว (ที่ต้องตั้งจาก TFRS 16) เหล่านี้ไม่ใช่ Debt ทางการเงิน แต่เป็น Liability ทางบัญชี

8. Equity ก็เช่นกัน หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ที่มีสภาพคล้ายทุน (Perpetual Bond) ไม่ใช่ทุนของผู้ถือหุ้นในทางการเงิน ในทางการเงินมันคือ Debt ประเภทหนึ่ง อาจเรียกว่าคือพวก Hybrid or Quasi Instrument  

9. ไม่เข้าใจการเงินถ่องแท้ ไม่รู้บัญชีให้เพียงพอก็จะอ่านงบหลงทาง ตีความธุรกิจผิดพลาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น